อาการลิ้นหัวใจรั่ว เป็นกลุ่มอาการสำคัญที่ทุกคนควรทำความรู้จักเอาไว้ เนื่องจากภาวะนี้เป็นภาวะที่สังเกตอาการได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งในกรณีที่ภาวะนี้เริ่มมีความรุนแรง ผู้ที่ป่วยบางคนอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่รุนแรงได้หลายชนิด เช่น ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะหัวใจหยุดเต้น
โดยปกติ หัวใจจะมีลิ้นหัวใจอยู่ 4 ตำแหน่งที่คอยเปิดและปิดขณะที่หัวใจเต้น เพื่อช่วยควบคุมกระแสเลือดให้ไหลผ่านไปแต่ละห้องในทิศทางเดียวกันและไม่ไหลย้อนกลับ แต่เมื่อเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว กระแสเลือดที่ควรจะไหลไปในทิศทางเดียวกันก็อาจเกิดการเล็ดลอดหรือไหลย้อนกลับทางเดิมได้
หากภาวะที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ อาจส่งผลให้ปริมาณเลือดไหลเวียนไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และอาจทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดจนเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้
วิธีสังเกตอาการลิ้นหัวใจรั่ว
ในกรณีที่ภาวะลิ้นหัวใจรั่วยังไม่รุนแรง ผู้ที่ป่วยอาจยังไม่พบอาการลิ้นหัวใจรั่วใด ๆ แต่เมื่อภาวะนี้เริ่มมีความรุนแรงขึ้น การไหลเวียนของเลือดในร่างกายอาจเริ่มมีปัญหา ผู้ที่ป่วยจึงอาจเริ่มพบอาการต่าง ๆ ในลักษณะดังต่อไปนี้
- รู้สึกเหนื่อยง่ายผิดปกติ โดยผู้ป่วยอาจพบว่าตนเองเหนื่อยจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำอยู่เป็นประจำง่ายกว่าเดิม เช่น จากเดิมที่เดินขึ้นบันไดแล้วเหนื่อยเพียงเล็กน้อย แต่ตอนนี้อาจจะเริ่มมีอาการหอบหรือหายใจไม่ทัน
- พบอาการหายใจไม่อิ่ม หรือสูดหายใจลึก ๆ ลำบาก โดยเฉพาะขณะออกแรงมาก ๆ หรือขณะนอนราบไปกับพื้น
- พบอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติอยู่บ่อย ๆ
- พบอาการบวมบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้า ฝ่าเท้า และใบหน้า
- พบอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอกบ่อย ๆ และอาการมักเริ่มรุนแรงขึ้น
- รู้สึกเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลมบ่อย ๆ
ข้อควรปฏิบัติเมื่อเริ่มพบอาการลิ้นหัวใจรั่ว
โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่เริ่มพบอาการลิ้นหัวใจรั่วมักคิดว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่มีอายุเพิ่มขึ้น แต่อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่า ภาวะนี้อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่รุนแรงได้ หากไม่ได้รับการดูแลจากแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจวาย ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง ไปจนถึงการเสียชีวิต
ดังนั้น ผู้ที่มักอาการที่เข้าข่ายของภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่พบอาการดังต่อไปนี้
- เจ็บหน้าอก
- หัวใจเต็นเร็วผิดปกติ
- หายใจไม่อิ่ม
- เป็นลมบ่อย ๆ
เนื่องจากหากผู้ป่วยได้รับการดูแลจากแพทย์ตั้งแต่แรก ๆ การรักษาอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงต่าง ๆ และช่วยให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากการไปพบแพทย์ การดูแลตัวเองอยู่เสมอก็ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่มีอาการลิ้นหัวใจรั่วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การงดสูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงอาการที่มีปริมาณเกลือและไขมันสูง การออกกำลังกายเป็นประจำ การควบคุมน้ำหนักตัว การจัดการกับความเครียด และการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออยู่เสมอ