เนื่องจากอาการวัณโรคนั้นมีความคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ ทำให้คนจำนวนหนึ่งป่วยเป็นวัณโรคโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตาม วัณโรคสามารถรักษาได้ หากเราไม่ละเลยและหมั่นสังเกตอาการของตัวเองอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ตรงจุด และสามารถหายขาดได้
โดยทั่วไป วัณโรค (Tuberculosis: TB) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดบริเวณปอดมากที่สุด แต่สามารถพบที่อวัยวะอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ท้อง ไต ต่อมต่าง ๆ กระดูก ระบบประสาท หรือสมอง โดยติดต่อกันผ่านการสูดละอองฝอยของน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะจากผู้ป่วยที่ไอ จาม หรือพูดคุย ซึ่งเชื้อโรคสามารถลอยไปได้ไกลในอากาศ ทำให้แพร่กระจายได้ง่าย
สัญญาณเริ่มต้นของอาการวัณโรค
เนื่องจากร่างกายคนเรามีเกราะป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคอย่างระบบภูมิคุ้มกันอยู่ แม้จะมีเชื้อแบคทีเรียต้นเหตุวัณโรคอยู่ในร่างกายก็อาจจะไม่ป่วย ไม่แสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน และไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งจะเรียกกันว่า ระยะแฝง (Latent TB)
ในกรณีที่เชื้อแบคทีเรียในร่างกายมีมากขึ้น หรือร่างกายอ่อนแอลง อาจก่อให้เกิดสัญญาณอาการวัณโรคจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการ (Active TB) อาทิ ไอติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ไอเป็นเลือดหรือมีเสมหะร่วมด้วย เจ็บหน้าอก เจ็บขณะหายใจหรือไอ หายใจไม่สะดวก คอบวม มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย สั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน เบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจ
ทั้งนี้ กว่าอาการจะปรากฏอาจกินเวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายปีหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากวัณโรคสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่เพียงแค่ปอดเท่านั้น เช่นว่า
- เกิดที่สมองอาจทำให้ปวดศีรษะหรือคลื่นไส้
- เกิดที่กระดูกอาจจะปวดกระดูก
- เกิดที่ข้อต่ออาจเผชิญกับภาวะข้อต่ออักเสบ
- เกิดที่กระดูกสันหลังอาจปวดหลังหรือเป็นอัมพาตที่ขา
- เกิดที่ไตหรือกระเพาะปัสสาวะอาจส่งผลให้ปัสสาวะเป็นเลือด
ยิ่งไปกว่านั้น อาการวัณโรคอาจคล้ายกับอาการของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสมและแม่นยำ
โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่าง การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคเบาหวาน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือโรคไต ผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ ผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ผู้ทำงานหรืออาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของวัณโรค รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานหรือข้องเกี่ยวกับผู้ป่วยวัณโรค
อาการวัณโรคกับการรักษาที่ถูกต้อง
แม้วัณโรคและอาการที่เกิดขึ้นจะเป็นปัญหาสุขภาพที่รุนแรง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองควบคู่ไปกับรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) โดยตัวยาและระยะเวลาในการใช้ยาของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป แพทย์จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นอายุ สุขภาพโดยรวม หรือบริเวณที่ติดเชื้อวัณโรค
การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาวัณโรคมักกินระยะเวลานานหลายเดือน ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นเชื้อวัณโรคอาจดื้อยา ไม่หาย และแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น การรักษาจะดำเนินไปด้วยความยากลำบากและใช้ระยะเวลานานมากยิ่งขึ้น
สำหรับตัวยาที่แพทย์มักนำมาใช้ก็เช่น ยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาอีแทมบูทอล (Ethambutol) และยาไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อยาอาจต้องปรับตัวยาหรือใช้ยาชนิดอื่น ๆ ควบคู่กัน เช่น ยาในกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) ยาอะมิเคซิน (Amikacin) ยาลีเนโซลิด (Linezolid)
อย่างไรก็ตาม แพทย์จะติดตามอาการวัณโรคในระหว่างการรักษาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพที่สุด หากผู้ป่วยพบผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรืออาการผิดปกติอื่นใดควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว