อาการหนองในผู้หญิงที่ควรรู้ และวิธีรักษา

อาการหนองในผู้หญิงมักทำให้เกิดตกขาวมาก ตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือรู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ซึ่งอาการจะคล้ายกับโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะหรือในช่องคลอด ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองเป็นโรคหนองใน และอาจแพร่เชื้อไปสู่คู่นอน หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบและมีบุตรยากตามมา

หนองใน (Gonorrhea) หรือหนองในแท้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhoeae ซึ่งติดเชื้อได้ทั้งชายและหญิง อาการหนองในผู้หญิงมักติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปากแบบไม่ได้ป้องกัน และหญิงที่ตั้งครรภ์ที่เป็นโรคหนองในอาจทำให้ทารกติดเชื้อได้หากคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ

อาการหนองในผู้หญิง

สังเกตอาการหนองในผู้หญิง

โดยส่วนมาก ผู้หญิงที่เป็นหนองในมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ หากไม่ได้ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอาจไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ แต่บางคนที่แสดงอาการ อาจพบอาการหนองในผู้หญิงหลังจากได้รับเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปากประมาณ 10 วัน เช่น

  • ตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น มีสีผิดปกติ หรือมีหนองปน
  • รู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน
  • ปวดท้องหรือปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน
  • เจ็บคอ คอบวม
  • เจ็บและคันตา ตาไม่สู้แสง มีขี้ตามาก
  • เจ็บและคันทวารหนัก มีหนองหรือเลือดไหล รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย
  • ข้อต่อบวมแดง รู้สึกอุ่นและปวดขณะขยับตัว

อาการหนองในจะไม่หายไปเองหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาทันที

อันตรายจากอาการหนองในผู้หญิงที่ไม่ได้รับการรักษา

อาการหนองในผู้หญิงที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายจากบริเวณช่องคลอด เข้าไป ท่อนำไข่ และรังไข่ ซึ่งเรียกว่าาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) ตามมา โดยจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ  เช่น ปวดท้องน้อย ปัสสาวะแสบขัด ปัสสาวะบ่อย ตกขาวผิดปกติ มีเลือดออกทางช่องคลอด มีไข้และหนาวสั่น

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบอาจก่อให้เกิดแผลเป็นบริเวณท่อนำไข่ อาจทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิไปฝังตัวอยู่ในท่อนำไข่แทน และเมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตผิดที่ อาจทำให้ท่อนำไข่ฉีกขาด แท้งบุตร และเป็นอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยาก และภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เช่น คลอดก่อนกำหนด ทารกน้ำหนักตัวน้อย และทารกตาบอดหากได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคหนองใน

นอกจากนี้ อาการหนองในผู้หญิงอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และแพร่เชื้อไปสู่คู่นอนได้เร็วกว่าปกติ รวมถึงการติดเชื้อบริเวณอื่นในร่างกาย เช่น ข้อต่อ เลือด หัวใจ และสมอง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้

แนวทางการรักษาอาการหนองในผู้หญิง

อาการหนองในผู้หญิงไม่สามารถหายได้ด้วยการดูแลตัวเองที่บ้านหรือการซื้อยามารับประทานเอง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาด้วยยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย โดยการฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) 1 เข็ม และแพทย์อาจให้ผู้ป่วยบางคนรับประทานยาปฏิชีวนะแบบเม็ดร่วมด้วย โดยปกติแล้ว อาการมักจะหายดีภายใน 1 สัปดาห์หลังได้รับยา

หลังจากนั้นแพทย์อาจนัดให้ผู้ป่วยไปตรวจซ้ำอีกครั้ง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ตามการนัดหมายแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้ว เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อแบคทีเรียถูกกำจัดออกจากร่างกายจนหมด ทั้งนี้ คู่นอนของผู้ป่วยที่ตรวจพบโรคหนองในก็ควรเข้ารับการตรวจเช่นเดียวกัน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อหนองในจากการมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างการรักษาผู้ป่วยควรงดการมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบจนกว่าอาการจะหายดี

กรณีที่สงสัยว่าติดเชื้อหนองในขณะตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองและทารก

อาการหนองในผู้หญิงสามารถป้องกันได้ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือปากก็ตาม รวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อยหรือมีคู่นอนหลายคน และผู้หญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีเพศสัมพันธ์ หรือคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำทุกปี