อาการหนาวสั่น รู้จักสาเหตุและวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้น

อาการหนาวสั่น เป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ที่กำลังเป็นไข้ โดยผู้ป่วยมักมีอาการอื่นร่วมกับอาการนี้ด้วย เช่น ขนลุก หรือขากรรไกรสั่น อย่างไรก็ตาม อาการหนาวสั่นก็ยังอาจพบได้ในผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคหรือภาวะผิดปกติชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน 

อาการสั่นเป็นอาการที่เกิดจากการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งถือเป็นกลไกธรรมชาติที่จะช่วยเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น โดยสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดภาวะนี้ก็อาจเป็นได้ตั้งแต่การอยู่ในสถานที่หนาวเย็น การเป็นไข้ ไปจนถึงอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ

อาการหนาวสั่น รู้จักสาเหตุและวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้น

8 สาเหตุของอาการหนาวสั่น

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะคอยคงอุณหภูมิส่วนแกนกลางให้อยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส โดยอาการหนาวสั่นจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิส่วนนี้ลดต่ำลง เช่น ขณะอยู่ในที่ ๆ หนาวเย็น

นอกจากนี้ อาการหนาวสั่นก็สามารถเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ได้ เช่น

1. ไข้

อาการไข้มักมีสาเหตุมาจากการที่ร่างกายติดเชื้อ โดยอาการของผู้ป่วยจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่อาการที่มักพบบ่อยก็เช่น มีเหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดกล้ามเนื้อ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เอง และมักไม่พบการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงใด ๆ แต่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ควรไปพบแพทย์หากพบว่าตัวร้อนมาก หรืออุณหภูมิสูงเกิน 39.4 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะเมื่อมีอาการปวดศีรษะรุนแรง สับสน อาเจียนบ่อย ๆ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ปวดท้องรุนแรง รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ ตาไม่สู้แสง ผื่นขึ้น รู้สึกตึงคอขณะก้มหน้า และชัก

2. ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

ภาวะขาดน้ำป็นภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำในปริมาณมากกว่าที่ได้รับเข้าไป จนร่างกายมีน้ำไม่เพียงพอต่อระบบการทำงานต่าง ๆ โดยอาการของภาวะนี้ที่มักพบ เช่น ปัสสาวะน้อยผิดปกติ ปัสสาวะมีสีเข้ม อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ กระหายน้ำ และรู้สึกสับสน

ผู้ที่มีภาวะนี้ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และไปพบแพทย์หากพบอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูงหรือตัวร้อนเกิน 39.4 องศาเซลเซียส เวียนศีรษะ รู้สึกสับสน หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกร้อนผิว กล้ามเนื้อกระตุก ไม่มีเหงื่อออก คลื่นไส้ และชัก

3. นิ่วในไต (Kidney Stones)

นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่แร่ธาตุและเกลือรวมตัวกันเป็นก้อนในไต โดยก้อนดังกล่าวอาจส่งผลให้ทางเดินปัสสาวะระคายเคือง อุดตัน และติดเชื้อตามมาได้ ซึ่งจะ ส่งผลให้เกิดอาการหนาวสั่นตามมาร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดสีข้างและหลังบริเวณใต้ซี่โครง ปวดท้องส่วนล่างและขาหนีบ และเจ็บขณะปัสสาวะ

ผู้ที่มีภาวะนี้ควรไปพบแพทย์หากรู้สึกว่าอาการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเมื่อเกิดอาการรุนแรง เช่น เจ็บจนยืนไม่ไหว คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะปนเลือด และฉี่ไม่ออก

4. ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia)

ภาวะตัวเย็นเกินเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว หรือประมาณต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส จนร่างกายไม่สามารถเพิ่มอุณหภูมิเพื่อชดเชยได้ทัน ซึ่งมักเป็นผลมาจากการอยู่ในที่หนาวเย็นเป็นระยะเวลานาน โดยอาการของภาวะนี้ที่มักพบ ได้แก่ ง่วงซึม ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง พูดช้าลง และหายใจช้าลง

ภาวะนี้เป็นภาวะอันตรายที่ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างเหมาะสม แต่ผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัวว่ามีอาการของภาวะนี้ ดังนั้น ผู้ที่พบคนใกล้ตัวมีอาการในลักษณะข้างต้นควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

5. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) 

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่มักพบได้ในผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้อินซูลินเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด แต่ก็มีบางคนเช่นกันที่เสี่ยงเป็นภาวะนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ผ่าตัดลดความอ้วน หรือผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นประจำ โดยอาการที่พบก็เช่น อ่อนเพลีย เหงื่อออกมาก อยากอาหารผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ สับสน และผิวซีด

ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ทันที โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มมีอาการมองเห็นภาพซ้อน พูดช้าลง ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง และชัก ดังนั้น ผู้ที่มีภาวะนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

6. ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid Fever)

ไข้ไทฟอยด์เป็นที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มักพบในอุจจาระและปัสสาวะของผู้ที่ติดเชื้อ หรืออาหารที่ไม่ได้ทำความสะอาดหรือปรุงให้สุกดีก่อนรับประทาน โดยอาการของผู้ป่วยโรคนี้ในระยะแรกคือ หนาวสั่น มีไข้อ่อน ๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดท้อง ผื่นขึ้น ท้องเสีย หรือท้องผูก จากนั้นอาการปวดท้องจะรุนแรงยิ่งขึ้น และมีอาการท้องบวม

ไขไทฟอยด์เป็นโรคที่สามารถส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายชนิด ผู้ที่มีอาการเข้าข่ายในลักษณะข้างต้นจึงควรรีบไปพบแพทย์ หากพบอาการในลักษณะดังกล่าว

7. ไข้หวัดใหญ่ (Flu)

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจ เช่น จมูก ลำคอ และปอด โดยผู้ที่ป่วยจะมีไข้ขึ้น ร่วมกับอาการหนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไอแห้งเรื้อรัง อ่อนเพลีย หายใจลำบาก อาเจียน ท้องเสีย เจ็บตา เจ็บคอ และคัดจมูก

ทั้งนี้ ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เอง แต่หากผู้ป่วยอาการแย่ลง หรือพบอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก เวียนศีรษะเรื้อรัง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และชัก

8. ภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism)

ภาวะขาดไทรอยด์เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาน้อยผิดปกติ โดยสาเหตุที่มักพบก็เช่น การป่วยเป็นโรคที่อยู่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันต้านตนเอง (Autoimmune Disease) ต่อมไทรอยด์อักเสบ การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การใช้ยาบางชนิด และการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiation Theraphy) 

ผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้นผิดปกติ หน้าบวม ท้องผูก ผิวแห้ง หนาวง่าย เสียงแหบ ผมร่วง หรือประจำเดือนมาไม่ปกติในผู้หญิง อย่างไรก็ตามภาวะนี้เป็นภาวะที่มักไม่ส่งผลให้เกิดอาการใด ๆ ในระยะแรก นอกจากบางอาการ อย่างอาการอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวเพิ่มผิดปกติ ดังนั้น ผู้ที่เริ่มพบอาการดังกล่าว ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ

วิธีรับมือกับอาการหนาวสั่น

วิธีจัดการกับอาการหนาวสั่นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การเป็นไข้ ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองด้วยการดื่มน้ำบ่อย ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ห่มผ้าเพื่อเพิ่มความอบอุ่นแต่ไม่ควรใช้ผ้าที่หนาเกินไป เช็ดตัวด้วยน้ำอุณหภูมิห้อง และรับประทานยาลดไข้เพื่อบรรเทาอาการ แต่ควรปรึกษาเภสัชก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ส่วนผู้ที่มีอาการหนาวเย็นมาจากการอยู่ในสถานที่ที่หนาวเย็นมาก ๆ ก็ควรดูแลตัวเองด้วยการสวมเสื้อผ้าที่หนาขึ้น เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย รวมถึงอาจจะดื่มเครื่องดื่มที่ร้อน เพื่อช่วยเพิ่มอุณหภูมิให้กับภายในร่างกาย

และสำหรับผู้ที่มีอาการหนาวสั่นมาจากการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการหนาวสั่นที่พบว่าตัวร้อนหรือเย็นผิดปกติ เช่น สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส หรือต่ำว่า 35 องศาเซลเซียส ร่วมกับการเกิดอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลียรุนแรง ปวดท้องรุนแรง และหายใจไม่ออก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของภาวะผิดปกติที่มีความรุนแรงได้