อาการเจ็บคอเป็นอาการที่สร้างความรำคาญใจให้ใครหลายคนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากทำให้รู้สึกระคายเคืองหรือไม่สบายภายในลำคอ และแม้ว่าอาการนี้พบได้ในคนทั่วไป แต่สาเหตุของอาการเจ็บคออาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยอาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัส การติดเชื้อแบคทีเรีย หรืออื่น ๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ สาเหตุที่แตกต่างกันยังอาจส่งผลถึงลักษณะของอาการ ระยะเวลาในการเกิด การบรรเทาอาการหรือการรักษาอีกด้วย การทราบถึงสาเหตุของอาการเจ็บคอจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถเลือกวิธีบรรเทาอาการเจ็บคอได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
อาการเจ็บคอจากแต่ละสาเหตุแตกต่างกันอย่างไร
อาการเจ็บคอมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โดยอาการเจ็บคอจากทั้ง 2 สาเหตุมักจะมีลักษณะอาการแตกต่างกัน
1. อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส
มักเป็นผลมาจากโรคหวัด ผู้ที่มีอาการเจ็บคอจากสาเหตุนี้มักจะมีน้ำมูก ไอแห้ง คัดจมูก จาม มีไข้อ่อน ๆ รู้สึกระคายเคืองในลำคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก คอหรือทอนซิลบวมและแดงร่วมด้วย ซึ่งอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัสมักดีขึ้นหรือหายไปได้เองภายในเวลาไม่กี่วัน และยังพบได้บ่อยกว่าอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
2. อาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcus) มักทำให้มีไข้ ไอแห้ง คอ เพดานปาก ลิ้นไก่และทอนซิลบวมแดง ปวดหัว มีอาการหนาวสั่น กลืนลำบาก มีจุดหนองรอบต่อมทอนซิลหรือลิ้นเป็นฝ้าขาวร่วมกับอาการเจ็บคอ ปวดท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย แต่มักไม่มีน้ำมูลไหล ทั้งนี้ อาการเจ็บคอที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะมีความรุนแรงและเรื้อรังมากกว่าอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อไวรัส และอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา
นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอ ได้แก่ สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยฝุ่น ควัน การสูบบุหรี่ ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน การใช้กล้ามเนื้อในคอมากเกินไปจากการตะโกนหรือพูดคุยเสียงดัง หรือการเกิดเนื้องอกบางชนิดภายในลำคอ
รับมืออาการเจ็บคอในเบื้องต้น
การบรรเทาอาการเจ็บคอจากสาเหตุต่าง ๆ ในเบื้องต้นนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
ดื่มน้ำให้มาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
ผู้ที่มีอาการเจ็บคอควรจิบน้ำตลอดทั้งวันเพื่อรักษาความชุ่มชื้นในลำคอและร่างกาย โดยอาจเลือกดื่มน้ำอุ่น น้ำผึ้งมะนาว ชาดอกคาโมมายล์ เครื่องดื่มที่ปราศจากสารคาเฟอีน รวมถึงสามารถอมน้ำแข็งก้อนเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นในลำคอก็ได้ นอกจากนี้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายฟื้นฟูและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในร่างกาย
ใช้สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอ
สเปรย์สำหรับช่องปากและลำคอเป็นอีกตัวเลือกในการบรรเทาการระคายคอ อาการเจ็บคอ และเพิ่มความชุ่มภายในคอ โดยสามารถเลือกใช้สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมของโพรพอลิส (Propolis) ซึ่งมีผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า โพรพอลิสอาจช่วยลดการสะสมของแบคทีเรียได้ และบางผลิตภัณฑ์จะมีสารสกัดจากสมุนไพรอื่น ๆ ที่อาจมีฤทธิ์ต้านการอักเสบภายในช่องปากหรือลำคอร่วมด้วย เช่น
- เปปเปอร์มิ้นท์ (Peppermint) มีสารประกอบฟีนอลิก (Phenolic Compounds) ซึ่งจากการวิจัยพบว่า สารประกอบนี้อาจช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ต้านการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและต้านการอักเสบภายในลำคอได้
- รากชะเอมเทศ (Licorice Root) มีสารกลีซีร์ริซิน (Glycyrrhizin) ที่ผลการศึกษาบางส่วนระบุว่า อาจใช้ต้านการอักเสบภายในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ช่วยป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย ต้านการติดเชื้อไวรัสและการอักเสบ
- กานพลู มีสารยูจีนอล (Eugenol) เป็นส่วนประกอบหลัก โดยจากการศึกษาพบว่า สารนี้อาจช่วยบรรเทาการติดเชื้อภายในระบบทางเดินหายใจได้
- กระชายขาว อาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหวัด ไอหรือคัดจมูก อีกทั้งมีการศึกษาบางส่วนพบว่ากระชายขาวมีสารแพนดูราทินเอ (Panduratin A) และพิโนสโตรบิน (Pinostrobin) ที่อาจมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิด แต่ยังต้องมีการค้นคว้าต่อเนื่องเพื่อดูประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของสมุนไพรต่อการบรรเทาอาการเจ็บคออาจยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด เพราะเป็นเพียงการทดสอบประสิทธิภาพในห้องทดลอง และจำเป็นต้องรอผลการวิจัยอื่น ๆ มาใช้เพื่อยืนยันประสิทธิภาพจากการใช้ในคนเพิ่มเติมในอนาคต
การบ้วนปากหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
การบ้วนปากหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยเพิ่มความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีภายในช่องปาก และช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้ โดยการผสมเกลือ 1 ช้อนชาละลายเข้ากับน้ำอุ่น 1 แก้ว (ประมาณ 230 มิลลิลิตร) จากนั้นนำมาใช้กลั้วคอหรือบ้วนปาก แต่ห้ามกลืนโดดเด็ดขาด
อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์หากรู้สึกเจ็บคอมากผิดปกติ มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือมีอาการเจ็บคอร่วมกับอาการหายใจลำบาก อ้าปากได้ลำบาก มีผื่น ปวดหู มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ต่อมน้ำเหลืองบวมในบริเวณคอ มีเสียงแหบหรือเสียงหาย ซึ่งแพทย์จะช่วยหาสาเหตุของอาการเจ็บคอที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
- Berretta, et al. (2020). Propolis and its potential against SARS-CoV-2 infection mechanisms and COVID-19 disease. Biomed Pharmacother, 131, 110622.
- Barboza, et al. (2018). An Overview on the Anti-inflammatory Potential and Antioxidant Profile of Eugenol. Oxid Med Cell Longev, 2018, 3957262.
- Li, et al. (2017). In vitro antiviral, anti-inflammatory, and antioxidant activities of the ethanol extract of Mentha piperita L. Food Sci Biotechnol, 26(6), pp. 1675–1683.
- Wang, et al. (2017). The antiviral and antimicrobial activities of licorice, a widely-used Chinese herb. Acta Pharm Sin B, 5(4), pp. 310–315.
- CDC (2021). Strep Throat: All You Need to Know.
- Plopkhwan Ungchusak, Kulkanya Chokepaiboonkit. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. เป็นหวัดเจ็บคอ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะจริงหรือ?.
- Mayo Clinic (2021). Sore throat.
- Cleveland Clinic. (2019). 6 Sore Throat Remedies That Actually Work.
- Barrie, L. Health (2012). 4 Clever Uses for Cloves.
- McGrane, K. Healthline (2020). What Are Licorice Root's Benefits and Downsides?.
- Higuera, V. Healthline (2019). Everything You Need to Know About Strep Throat.
- Colleen, M.S. & Gotter, A. Healthline (2017). 12 Natural Remedies for Sore Throat.
- Cunha, J.P. MedicineNet. Sore Throat Home Remedies.
- Brennan, D. MedicineNet (2021). What Is the Difference Between Strep Throat and Sore Throat?.
- WebMD. Propolis (Propolis - Uses, Side Effects, and More).
- WebMD (2020). Is Your Sore Throat a Cold, Strep Throat, or Tonsillitis?.
- WebMD (2020). Remedies for Sore Throat.
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ณัฏฐ์พัชร์ ฐิติปุญญา