อาการเบื่ออาหาร 9 สาเหตุที่ควรรู้ และวิธีรับมือ

อาการเบื่ออาหาร คืออาการที่ความอยากอาหารน้อยลงกว่าปกติ หรือไม่อยากรับประทานอาหารใด ๆ เลย บางคนอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย หมดแรง คลื่นไส้เมื่อเห็นหรือได้กลิ่นอาหาร อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผมร่วง เล็บเปราะ และน้ำหนักตัวลดลงหากรับประทานอาหารไม่เพียงพอ

อาการเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นในช่วงสั้น ๆ หรือเป็นครั้งคราวจากความเครียด หรืออาการเจ็บป่วย เช่น โรคหวัด อาหารไม่ย่อย ซึ่งอาการมักดีขึ้นได้ภายในเวลาไม่นานหลังการดูแลตัวเอง แต่อาการเบื่ออาหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่หายขาด อาจเป็นสัญญาณของโรคที่ควรได้รับการรักษา เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน โรคจิตเวช และโรคเรื้อรังอื่น ๆ

อาการเบื่ออาหาร

สาเหตุของอาการเบื่ออาหาร

อาการเบื่ออาหารเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

1. การติดเชื้อ

การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิตในร่างกายเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ซึ่งอาการจะดีขึ้นหากได้รับการรักษาการติดเชื้อเหล่านี้จนหายดี เช่น

  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และปอดบวม ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูก ไอ เจ็บคอ และมีไข้ ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ได้กลิ่นและรับรสอาหารได้น้อยลง และอ่อนเพลีย
  • อาหารเป็นพิษ และโรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน และมีอาการเบื่ออาหาร
  • การติดเชื้ออื่น ๆ เช่น ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) วัณโรค การติดเชื้อที่ผิวหนัง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) 

2. ท้องผูก

ท้องผูกเป็นอาการถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผู้ที่ท้องผูกจะถ่ายอุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก รู้สึกเจ็บขณะขับถ่าย และบางครั้งอาจมีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งการขับถ่ายน้อยกว่าปกติจะทำให้มีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง และมีอาการเบื่ออาหารตามมา 

ท้องผูกอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกาย หรือเกิดจากโรคบางอย่างที่ทำให้ขับถ่ายลำบาก ความผิดปกติของฮอร์โมน และการใช้ยาบางชนิด หากปล่อยให้มีอาการท้องผูกเป็นเวลานาน อาจกลายเป็นโรคท้องผูกเรื้อรังได้

3. อายุที่เพิ่มมากขึ้น

อาการเบื่ออาหารพบบ่อยในผู้สูงอายุ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น ระบบย่อยอาหารทำงานแย่ลง การรับรสและได้กลิ่นอาหารลดน้อยลง ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟัน ซึ่งทำให้เคี้ยวอาหารลำบาก การใช้ยา และโรคประจำตัวในผู้สูงอายุ จึงทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง

4. กรดไหลย้อน

กรดไหลย้อนคือภาวะที่กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดที่ปลายหลอดอาหารหย่อนตัวลง ทำให้เกิดอาการจุกเสียดแน่นท้อง เรอเปรี้ยว แสบร้อนกลางอก คลื่นไส้ และมีอาการเบื่ออาหาร

5. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต

ความผิดปกติทางอารมณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น ความไม่สบายใจ ความเศร้า ความเครียด และความกังวล ส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงชั่วคราว ส่วนผู้ที่เป็นโรคจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล จะเกิดความผิดปกติทางอารมณ์และร่างกายหลายด้าน อย่างอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักตัวลดลง

นอกจากนี้ ความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เช่น อะนอเร็กเซีย และบูลิเมีย ถือเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากความวิตกกังวลอย่างรุนแรงเกี่ยวกับน้ำหนักตัวและรูปร่าง ทำให้พยายามลดปริมาณการรับประทานอาหาร หรือรับประทานแล้วล้วงคอให้อาเจียน ซึ่งอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้

6. โรคเรื้อรังเกี่ยวกับทางเดินอาหารและลำไส้

โรคเรื้อรังที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารอาจเป็นสาเหตุของอาการเบื่ออาหารได้เช่นกัน รวมถึงอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ท้องเสีย อ่อนเพลีย และถ่ายเป็นเลือด ซึ่งโรคในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) เป็นโรคที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ผู้ป่วยมักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) คือความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันหลังรับประทานอาหารที่มีกลูเตน
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) ได้แก่ โรคโครห์น (Crohn's Disease) และโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) 
  • โรคอื่น ๆ ที่เกิดจากการอักเสบเฉียบพลัน เช่น ไส้ติ่งอักเสบ และโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis)

7. การตั้งครรภ์

ผู้ที่ตั้งครรภ์อาจมีอาการเบื่ออาหาร ท้องอืด ทำให้รับประทานอาหารน้อยลง หรือไม่สามารถรับประทานอาหารบางชนิดได้ เนื่องจากอาการแพ้ท้อง เช่น คลื่นไส้และอาเจียนเมื่อได้กลิ่นอาหารบางอย่าง ซึ่งจะพบบ่อยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ 

8. โรคเรื้อรังอื่น ๆ

โรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์ ความจำเสื่อม โรคเอดส์ และมะเร็ง

9. การใช้ยา

อาการเบื่ออาหารอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยานอนหลับ ยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด ยาต้านเศร้า ยาควบคุมความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ และยาระงับปวด เช่น ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เป็นต้น ผู้ที่ใช้ยาอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก และท้องเสีย

รับมืออาการเบื่ออาหารด้วยตัวเอง

หากมีอาการเบื่ออาหาร ควรดูแลตัวเองในเบื้องต้นด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรืออาหารที่รับประทานอาจช่วยเพิ่มความอยากอาหาร และรับประทานอาหารได้มากขึ้น เช่น

  • สังเกตและจดบันทึกอาการเบื่ออาหารของตัวเองในแต่ละวัน และรับประทานอาหารในช่วงเวลาที่รู้สึกหิว
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเน้นอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ และถั่ว รับประทานผักและผลไม้ เพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินและแรธาตุที่จำเป็นอย่างครบถ้วน
  • ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหาร พร้อมกับท้องอืดหรือท้องเสีย ควรรับประทานอาหารที่มีรสอ่อนและย่อยง่าย เช่น ซุป โจ๊ก ข้าวต้ม กล้วยหอม ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
  • รับประทานอาหารมื้อเล็กๆ หลายมื้อต่อวัน และเสริมด้วยการรับประทานผลไม้ นม และโยเกิร์ตที่มีน้ำตาลต่ำในระหว่างมื้ออาหาร แทนการรับประทานขนมหวานหรือขนมขบเคี้ยว
  • ทำอาหารรับประทานกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน การมีเพื่อนคุยขณะรับประทานอาหารด้วยกัน อาจช่วยให้เจริญอาหารมากขึ้น
  • ใส่เครื่องเทศในเมนูอาหาร หรือดื่มชาสมุนไพรที่มีส่วนผสมของขิง เปปเปอร์มินต์ และผลไม้รสเปรี้ยว ซึ่งช่วยบรรเทาอาการท้องอืด คลื่นไส้ และช่วยให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น
  • หากมีอาการท้องผูก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง

พักผ่อนให้เพียงพอ และจัดการกับความเครียด

ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารที่เกิดจากโรคติดเชื้อ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการอ่อนเพลีย ไข้ และท้องเสียได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ ควรทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลง อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ และเล่นโยคะ 

ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาทีจะช่วยกระตุ้นการอัตราเผาผลาญและระบบย่อยอาหาร จึงช่วยให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น บรรเทาอาการคลื่นไส้ และยังช่วยผ่อนคลายความเครียด และทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นอีกด้วย

ใช้ยาและอาหารเสริม

ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารจากโรคบางอย่าง อาจรับประทานยาที่หาซื้อได้เองเช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาแก้คลื่นไส้ ยาแก้ท้องอืด เพื่อช่วยบรรเทาอาการ และรับประทานอาหารได้ดีขึ้น 

หรือปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเพื่อรับประทานอาหารเสริมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น วิตามินรวม วิตามินสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ หรืออาหารเสริมผู้สูงอายุ

ปรึกษาแพทย์

ผู้สูอายุที่มีอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานาน ผู้ตั้งครรภ์ที่แพ้ท้องอย่างรุนแรง และผู้ที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร เช่น โรคจิตเวช โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่นเดียวกับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารจากการใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ยาต่อไป

อาการเบื่ออาหารที่ควรไปพบแพทย์

หากอาการเบื่ออาหารไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์หลังจากดูแลตัวเอง หรือยังมีอาการเบื่ออาหารต่อเนื่องหลังจากหายป่วยจากโรคติดเชื้อ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาหารเป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา รวมทั้งผู้มีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • น้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีไข้ กระสับกระส่าย
  • อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
  • หายใจลำบาก
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ 
  • วิตกกังวลเกี่ยวกับน้ำหนักตัวอย่างรุนแรง และไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ
  • มีอาการขาดสารอาหาร เช่น ตัวซีด ผิวแห้ง ผมร่วง เลือดออกตามไรฟันและฟกช้ำง่าย ตาไม่สู้แสง มองไม่เห็นในที่มืด และเจ็บป่วยบ่อย

อาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและอาการจะดีขึ้นเมื่อดูแลตัวเอง แต่หากมีอาการเบื่ออาหารเป็นเวลานานหรือเป็น ๆ หาย ๆ พร้อมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจและควรไปพบแพทย์ เพราะหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่อาการขาดสารอาหาร และความไม่สมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้