อาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร และวิธีเพิ่มความอยากอาหาร

เบื่ออาหารเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจตามวัย เช่น อาหารไม่สามารถกระตุ้นความอยากอาหารได้ รู้สึกอิ่มจึงไม่อยากอาหารในมื้อถัดไป รู้สึกไม่อยากรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งโรคประจำตัวที่ทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลง

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีและป้องกันโรคต่าง ๆ แต่ผู้สูงอายุที่เบื่ออาหารจะรับประทานอาหารได้น้อย อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลง ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคขาดสารอาหาร และโรคอื่น ๆ ตามมาได้ บทความนี้จะมาไขข้องสงสัยทำไมผู้สูงอายุถึงเบื่ออาหาร แล้วจะรับมืออย่างไรเมื่อผู้สูงวัยไม่ยอมรับประทานอาหาร

อาการเบื่ออาหารในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร และวิธีเพิ่มความอยากอาหาร

ผู้สูงอายุเบื่ออาหารเกิดจากอะไร

เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ความอยากอาหารมักจะลดลง เนื่องจากผู้สูงอายุต้องการพลังงานต่อวันน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ และมักจะไม่ได้ออกแรงทำกิจกรรม รวมถึงความสามารถในการรับกลิ่นและรสชาติก็จะลดลงและระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ทำให้รู้สึกอิ่มนาน จึงมักรู้สึกเบื่ออาหารและรับประทานอาหารน้อยลง 

นอกจากนี้ การเบื่ออาหารอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น 

  • ปัญหาการเคี้ยวและกลืนอาหาร เช่น ปวดฟัน ฟันหลุด ฟันหัก ความผิดปกติของขากรรไกรที่ส่งผลต่อการเคี้ยว และภาวะกลืนลำบาก ซึ่งทำให้สำลักอาหารและน้ำบ่อย ๆ
  • ปัญหาระบบการย่อยและโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน โรคโครห์น ลำไส้อักเสบ และโรคถุงผนังลำไส้อักเสบ  
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง 
  • ปัญหาการนอนหลับ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่กระปรี้กระเปร่า และไม่อยากอาหาร
  • ปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ทำให้การทำอาหารหรือออกไปซื้ออาหารไม่สะดวก 
  • ความเสียใจจากการสูญเสีย ความเครียด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล
  • การรับประทานอาหารเพียงลำพัง อาจทำให้ผู้สูงอายุบางคนไม่อยากอาหารได้ 
  • ความรู้สึกอายหรือกังวลเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่นในผู้สูงอายุบางคน
  • โรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) นิ่วในถุงน้ำดี โรคไต สมองเสื่อม โรคมะเร็ง และโรคปอดเรื้อรัง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านเศร้า ยารักษาโรคเบาหวาน และยาเคมีบำบัด ที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร

ควรทำอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุเบื่ออาหาร

ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุเบื่ออาหารอาจลองปรับหรือแก้ไขตามคำแนะนำต่อไปนี้

ปรับการรับประทานอาหารและเมนูอาหาร

จากเดิมที่ผู้สูงอายุเคยรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ให้แบ่งรับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง อาจแบ่งเป็นมื้อย่อยวันละ 5–6 มื้อ และเมนูอาหารควรปรับเปลี่ยนไม่ให้จำเจ แต่ยังมีประโยชน์และย่อยง่าย เช่น หากไม่อยากรับประทานสัตว์เนื้อแดงอาจรับประทานเนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ และนมถั่วเหลืองที่ให้โปรตีนทดแทน ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์กับผลไม้ หรือเพิ่มรสชาติและกลิ่นด้วยสมุนไพรและเครื่องเทศ 

พลังงานที่ผู้สูงอายุควรได้รับต่อวันจะอยู่ที่ประมาณ 1,500–1,800 กิโลแคลอรี่ หากรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงควรรับประทานในปริมาณน้อย และเสริมด้วยอาหารว่างที่มีประโยชน์ เช่น นมจืด ผลไม้ รวมถึงควรให้หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด อาหารหมักดอง อาหารทอด และไม่ควรดื่มน้ำอัดลม ชา และกาแฟ เพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น 

สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการรับประทานอาหาร

ครอบครัวอาจจัดสรรเวลาให้สมาชิกในบ้านและผู้สูงอายุได้รับประทานอาหารพร้อมหน้ากัน หรือจัดให้ผู้สูงอายุได้รับประทานอาหารกับเพื่อนวัยเดียวกันเป็นครั้งคราว ซึ่งอาจช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขในการรับประทานอาหารมากขึ้น ไม่รู้สึกเหงาที่ต้องรับประทานอาหารเพียงคนเดียว 

ดูแลสุขภาพร่างกาย

ผู้สูงอายุควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาด และไปพบทันตแพทย์เป็นประจำ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ และเหงือกอักเสบที่ส่งผลต่อการรับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม ควรรีบพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์หากผู้สูงอายุมีอาการเบื่ออาหารร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น น้ำหนักลดผิดปกติ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ สับสน ตาพร่า เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ และหายใจลำบาก 

นอกจากนั้น หากผู้สูงอายุยังมีอาการเบื่ออาหารหลังจากปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ก็ควรพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์เช่นกัน เพื่อตรวจและรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหาร เช่น รักษาโรคประจำตัว ปรับปริมาณหรือเปลี่ยนยาที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร ซึ่งแพทย์อาจช่วยวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุและให้รับประทานอาหารเสริมทดแทนสารอาหารที่ได้รับไม่เพียงพอ