อาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกเป็นสัญญาณแรก ๆ ที่เตือนให้ผู้ป่วยทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งปากมดลูก แม้มะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการผิดปกติขึ้นได้ ซึ่งควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มมีอาการ เพราะมะเร็งปากมดลูกในระยะแรกเป็นระยะที่สามารถรักษาให้หายได้
มะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) เป็นเซลล์ที่เติบโตผิดปกติบริเวณปากมดลูกใกล้กับช่องคลอด มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) จากการมีเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงจึงควรสังเกตอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 18 ปี และเปลี่ยนคู่นอนบ่อย โดยไม่ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ติดเชื้อเอชไอวีและมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
อาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกที่ควรสังเกต
มะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงอาการในระยะแรก และอาการมักจะชัดเจนขึ้นเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลาม แต่ผู้ป่วยบางคนอาจสังเกตว่ามีอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก ดังนี้
- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติในช่วงรอบเดือน และหลังจากเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนไปแล้ว
- ประจำเดือนมามาก หรือมาเป็นเวลานานกว่าปกติ
- ตกขาวมากผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น และมีเลือดปน
- ปวดบริเวณท้องน้อยและหลังส่วนล่างบ่อย โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังการสวนล้างช่องคลอด และหลังการมีเพศสัมพันธ์
อาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาจใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีอาการปรากฏ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม เช่น ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจจะมีอาการของมะเร็งปากมดลูกเร็วกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย
หากมะเร็งปากมดลูกแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น เช่น เจ็บหรือมีเลือดออกขณะปัสสาวะและถ่ายอุจจาระ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหลัง ปวดขา และขาบวมตามมา
สิ่งที่ควรทำเมื่อพบอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก
หากมีอาการผิดปกติที่เข้าข่ายว่าเป็นอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด ซึ่งวิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูก ได้แก่
1. การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear หรือ Pap Test)
การตรวจแปปสเมียร์เป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่สามารถตรวจพบมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยทราบถึงความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปากมดลูก ไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำสำหรับผู้หญิงอายุ 21 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุก 3 ปี
แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปทางช่องคลอด เพื่อเก็บเซลล์เยื่อบุบริเวณปากมดลูก แล้วนำเซลล์ไปตรวจวิเคราะห์เซลล์มะเร็งในห้องปฏิบัติการ
2. การตรวจ HPV DNA Test
วิธีนี้เป็นการตรวจผู้มีอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก โดยใช้เครื่องมือเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุปากมดลูก และช่องคลอดด้านใน แล้วนำไปตรวจหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ที่อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เช่น สายพันธุ์ 16 และ 18 บางครั้งแพทย์อาจตรวจ HPV DNA Test ร่วมกับการตรวจแปปสเมียร์ (Co-testing) โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อายุระหว่าง 25–30 ปี เพื่อให้ได้ผลตรวจอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกที่แม่นยำยิ่งขึ้น
กรณีที่ผลตรวจพบเชื้อ HPV หรือเซลล์มะเร็งปากมดลูก แพทย์อาจให้ตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เช่น การตรวจปากมดลูกด้วยกล้องคอลโปสโคป (Colposcopy) การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ (Biopsy) ซีที สแกน (CT Scan) เอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อประเมินแนวทางการรักษาต่อไป
วิธีรักษาจะขึ้นอยู่กับขนาดของเซลล์มะเร็ง ระยะของมะเร็งที่ตรวจพบ และสภาวะสุขภาพของผู้ป่วย เช่น การผ่าตัดเฉพาะชิ้นเนื้อมะเร็งออกไป การผ่าตัดปากมดลูกและมดลูก ร่วมกับการบำบัด เช่น เคมีบำบัด และการฉายแสง เพื่อป้องกันการลุกลามของเซลล์มะเร็ง
การสังเกตอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก และตรวจพบตั้งแต่มะเร็งปากมดลูกยังอยู่ในระยะต้น ๆ มักจะมีโอกาสรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และงดสูบบุหรี่