อาการเลือดคั่งในสมอง เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรคความดันสูงที่ไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน หรือเกิดขึ้นหลังผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุที่ทำให้ศีรษะกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เช่น การหกล้ม อาการเลือดคั่งในสมอง มักเริ่มด้วยอาการปวดหัวอย่างกะทันหันและรุนแรง โดยมักมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย
เลือดคั่งในสมองหรือเลือดออกในสมอง คือโรคหลอดเลือดในสมอง (Stroke) ชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย เลือดคั่งในสมองคือภาวะที่มีเลือดออกและคั่งอยู่ระหว่างกะโหลกศีรษะและสมอง ทำให้เกิดแรงดันที่ปิดกั้นไม่ให้ออกซิเจนและสารอาหารเข้าสู่เนื้อเยื่อและเซลล์ในสมอง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ผู้ที่มีอาการเลือดคั่งในสมอง ควรได้รับการดูแลจากแพทย์โดยเร็วที่สุด
ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเลือดคั่งในสมอง
แม้ว่าอาการเลือดออกในสมองจะสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเลือดคั่งในสมองมากกว่าคนอื่น ๆ เช่น
- ผู้ที่บาดเจ็บทางศีรษะอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุ
- ผู้ป่วยโรคความดัน โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดโป่งพอง
- ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในสมอง
- ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- หญิงที่ตั้งครรภ์
- ผู้เสพติดการใช้สารเสพติดชนิดต่าง ๆ และผู้ที่สูบบุหรี่
อาการเลือดคั่งในสมองที่ควรสังเกต
ภาวะเลือดคั่งเป็นภาวะที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต การทราบถึงสัญญาณของอาการอาจช่วยให้สามารถสังเกตอาการ และนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาได้เร็วขึ้น โดยอาการเลือดคั่งในสมองที่พบได้บ่อย ได้แก่
- อาการปวดหัวอย่างเฉียบพลันและรุนแรง โดยอาจรู้สึกเหมือนถูกตีที่ศีรษะบริเวณท้ายทอย หรืออาจเป็นอาการปวดหัวชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีกทั้งความรู้สึกปวดที่หัวมักจะทรุดหนักลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการปวดหัวเช่นนี้มักปรากฏเป็นอาการแรก ๆ เมื่อผู้ป่วยมีเลือดคั่งในสมอง
- รู้สึกชา เจ็บแปลบคล้ายถูกเข็มทิ่มตำ หรือรู้สึกอ่อนแรง ที่บริเวณครึ่งซีกด้านใดด้านหนึ่งของใบหน้า แขน หรือขา
- เวียนหัว
- ไร้เรี่ยวแรง หรือง่วงซึม
- พูดไม่ชัด
- คลื่นไส้ อาเจียน
- สับสน หรือหมดสติ
นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่สามารถเป็นสัญญาณของอาการเลือดคั่งในสมองได้ เช่น เดินเซเนื่องจากทรงตัวยาก กลืนลำบาก สูญเสียการมองเห็นหรือเห็นภาพซ้อน ดวงตาไวต่อแสงไฟ หายใจลำบาก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ มีอาการชัก หมดสติ
ผู้ที่มีอาการดังที่กล่าวมานี้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง อาจเป็นสัญญาณเลือดคั่งในสมอง หรือสโตรกที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ควรรีบเข้ารับการรักษาโดยแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสมอง และภาวะแทรกซ้อน เช่น สูญเสียความทรงจำ บุคลิกภาพหรือลักษณะอารมณ์เปลี่ยนไป รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการพิการ และเสียชีวิตได้อีกด้วย
ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเข้ารับการรักษา และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ อาจเสริมสร้างสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงอาการเลือดคั่งในสมองและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีน้ำตาลและคอเลสเตอรอลต่ำ เพื่อรักษาระดับความดันเลือดไม่ให้สูงเกินไป อาจหาเวลาออกกำลังกาย และพิจารณาการเลิกสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพโดยรวมที่ดี