เอดส์ หรือ AIDS ย่อมาจาก Acquired immunodeficiency syndrome เป็นอาการขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี ส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน หากไม่เข้ารับการรักษาจะส่งผลให้เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
เอดส์คืออะไร
เอดส์เป็นโรคเรื้อรังซึ่งเป็นอาการขั้นสุดท้ายที่เกิดจากการติดเชื้อเอชไอวีที่สามารถติดต่อได้จากหลายช่องทาง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ทั้งจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร รวมถึงการให้นมบุตร เป็นต้น ซึ่งเชื้อเอชไอวีจะเข้าไปทำลายภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและแทรกแซงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายจนเป็นสาเหตุของการเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส อย่างวัณโรค ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคมะเร็งได้ในที่สุด
สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงสามารถไปตรวจเลือดเพื่อหาปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เพื่อประเมินการทำงานของภูมิต้านทางของร่างกาย ซึ่งปกติแล้วผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงจะมี CD4 ประมาณ 500-1,500 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร และจะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ก็ต่อเมื่อมีจำนวน CD4 ต่ำกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร แต่ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีก็อาจไม่ได้เป็นเอดส์เสมอไป หากระบบภูมิต้านทานยังทำงานได้ดีอยู่หรือมีจำนวน CD4 มากกว่า 350 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร
อาการเอดส์เป็นอย่างไร
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าเชื้อไวรัสจะทำลายภูมิคุ้มกันจนนำไปสู่โรคเอดส์ ซึ่งเป็นอาการขั้นสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวี และเมื่อภูมิคุ้มกันถูกทำลายจนเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว จะสามารถพบอาการเอดส์ได้ ดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสียอย่างรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลียตลอดเวลา
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมที่บริเวณลำคอหรือขาหนีบ
- มีไข้นานกว่า 10 วัน
- มีอาการไอ และหายใจหอบเหนื่อย
- มีแผลในปาก จมูก ตามผิวหนัง หรือบริเวณอวัยวะเพศ
- มีแผลฟกช้ำเกิดขึ้นตามร่างกายโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีจุดสีม่วงขึ้นตามผิวหนัง
- ฮอร์โมนเพศชายลดลง และส่งผลให้หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- มีอาการทางระบบประสาท เช่น รู้สึกสับสน ความจำเสื่อม เป็นต้น
การใช้ชีวิตร่วมกับอาการเอดส์อย่างมีความสุข
สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอดส์ สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับโรคนี้ คือ การเริ่มรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวีโดยเร็วที่สุด ต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อช่วยกดเชื้อไวรัสและช่วยให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังต้องไปพบแพทย์เป็นประจำตามกำหนดเพื่อติดตามอาการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเลี่ยงการกระจายหรือรับเชื้อเพิ่มด้วยการไม่ใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น ลดจำนวนคู่นอน และสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง โดยเลือกรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สุกและสะอาด งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกไปพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือคนที่รักเพื่อให้ได้กำลังใจที่ดี ด้วยวิธีง่าย ๆ เท่านี้ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข