อาการแพ้ยา เป็นอาการที่เกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อยาที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย โดยอาจอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยาไปแล้วภายใน 1 ชั่วโมง หรืออาจเกิดขึ้นเมื่อผ่านไปหลายชั่วโมงจนถึงหลายสัปดาห์ ซึ่งบางคนอาจมีอาการแพ้ยาที่รุนแรงมากจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการแพ้ยา รวมถึงวิธีรับมือกับอาการแพ้ยาที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สามารถรับมือกับอาการแพ้ใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาได้อย่างเหมาะสม
แพ้ยาคืออะไร ?
แพ้ยา คือปฏิกิริยาตอบสนองที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อยาที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายคล้ายกับการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม โดยปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอาจนำไปสู่การอักเสบที่มากขึ้นจนก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการที่ไม่รุนแรง หรืออาจเป็นอาการที่รุนแรงมากจนอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การแพ้ยาแตกต่างจากอาการที่เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่อาจคาดการณ์ได้จากกลไกการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอาการที่เป็นผลข้างเคียงมักจะถูกระบุไว้ที่ฉลากยา ในขณะที่การแพ้ยานั้นไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผู้ใดจะแพ้ยาตัวไหนจนกว่าจะได้ใช้ยาตัวนั้น และไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอาการแพ้ขึ้นเมื่อใด เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแพ้หลังจากการใช้ยาครั้งแรก แต่ก็อาจมีอาการแพ้หลังจากใช้ยาครั้งถัดมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ คนบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ยามากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ ผู้ที่มีอาการแพ้อื่น ๆ อย่างแพ้อาหาร ไข้ละอองฟาง ผู้ที่เคยมีอาการแพ้ยามาก่อน ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์ และผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ ผู้หญิงอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ยามากกว่าผู้ชาย
อาการแพ้ยาเป็นอย่างไร ?
ผู้ที่มีอาการแพ้ยาส่วนใหญ่มักแสดงอาการทันทีหลังใช้ยา แต่บางครั้งก็อาจแสดงอาการหลังจากที่ใช้ยาไปแล้วหลายชั่วโมง หลายวัน หรือหลายสัปดาห์ โดยอาการแพ้ยาที่มักพบบ่อย มีดังนี้
- เกิดลมพิษ
- มีผื่นขึ้นที่บริเวณผิวหนัง
- คันตาหรือน้ำตาไหล
- มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น
- น้ำมูกไหล
- มีไข้
- หายใจไม่อิ่ม หรือหายใจมีเสียงหวีด
ในบางกรณีที่ผู้ป่วยแพ้ยาชนิดหนึ่งอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงหรือแอแนฟิแล็กซิส ซึ่งแม้จะเป็นอาการที่พบได้น้อย แต่ก็อาจนำไปสู่การชีวิตได้ เนื่องจากเกิดความผิดปกติของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยมีอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกดังนี้
- หายใจลำบาก เนื่องจากหลอดลมหดตัว
- รู้สึกสับสน
- เป็นตะคริว
- ปวดบิดบริเวณท้อง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- เวียนศีรษะ เป็นลม
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนลง
- ความดันโลหิตลดต่ำลง
- ชัก
- สูญเสียการรับรู้ และอาจเกิดภาวะช็อก
นอกจากนี้ ยังมีอาการแพ้ยาบางอย่างที่พบได้น้อย ซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังจากใช้ยาไปแล้วหลายวันหรือหลายสัปดาห์ โดยอาการอาจคงอยู่สักพักแม้ผู้ป่วยจะหยุดรับประทานยาแล้วก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการหรือประสบภาวะต่าง ๆ ดังนี้
- อาการแพ้แบบซีรัมซิกเนส ผู้ป่วยอาจพบว่ามีอาการปวดข้อ ผื่นขึ้น มีอาการบวม ไข้ขึ้น หรือรู้สึกคลื่นไส้
- กลุ่มอาการเดรส(DRESS) หรือปฏิกิริยาการแพ้ยาที่เกิดอีโอซิโนฟิลสูง ซึ่งผู้ป่วยอาจพบว่ามีผื่นขึ้น มีอาการบวม ต่อมน้ำเหลืองโต จำนวนเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น และเกิดภาวะตับอักเสบ
- กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน ซึ่งอาจทำให้มีไข้ มีอาการปวดบริเวณผิวหนังโดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดผื่นสีแดงหรือสีม่วงขึ้นบริเวณผิวหนังซึ่งจะค่อย ๆ ลุกลาม เกิดตุ่มน้ำตามผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิวบริเวณปาก จมูก ตา และอวัยวะเพศ และผิวหนังอาจหลุดลอกภายในไม่กี่วันหลังจากเกิดแผลพุพอง
- ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการใช้ยา ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเมื่อยล้า หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหายใจไม่อิ่ม
- ภาวะไตอักเสบ ซึ่งอาจทำให้มีอาการต่าง ๆ เช่น มีไข้ ปัสสาวะมีเลือดปน มีอาการบวม หรือรู้สึกสับสน เป็นต้น
ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
หลังจากที่รับประทานยาใด ๆ หากคุณมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการแพ้ยา ควรรีบไปพบแพทย์และแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการที่เกิดขึ้นทันที และหากคุณมีอาการที่เป็นสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ควรรีบโทรแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือโทรแจ้งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที
นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางรายพกเข็มฉีดยาลักษณะคล้ายปากกาที่มีเอพิเนฟรินติดตัวไว้เพื่อฉีดให้ตัวเองในกรณีที่มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการอย่างละเอียด แม้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
วิธีรับมือกับอาการแพ้ยา
วิธีรับมือกับอาการแพ้ยานั้นอาจมีความแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการแพ้ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้
หยุดใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หากแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือมีความเป็นไปได้ว่าอาการแพ้ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการใช้ยาดังกล่าว ในเบื้องต้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดใช้ยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และหลีกเลี่ยงการจ่ายยาชนิดนั้นหากไม่มีความจำเป็น โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาตัวอื่นที่ผู้ป่วยไม่มีอาการแพ้เพื่อทดแทนยาดังกล่าว
ใช้ยาต้านฮีสตามีน ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการแพ้ได้โดยใช้ยาต้านฮิสตามีนอย่างยาไดเฟนไฮดรามีน ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งสารฮิสตามีนซึ่งเป็นสารมีผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและก่อให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ ได้
ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ซึ่งเป็นยาในกลุ่มสเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบ โดยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์นั้นมีหลายรูปแบบทั้งยารับประทาน ยาฉีด ยาพ่นจมูก ยาหยอดตา และครีม นอกจากนี้ ยังมียาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ใช้สูดดมซึ่งอยู่ในรูปแบบผงหรือน้ำ และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ใช้กับเครื่องพ่นละอองยาซึ่งอยู่ในรูปแบบน้ำอีกด้วย
ใช้ยาเอพิเนฟริน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้อย่างรุนแรงหรือเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องฉีดยาเอพิเนฟรินเพื่อบรรเทาอาการโดยด่วน และควรต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูระดับความดันโลหิตและการหายใจให้เป็นปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรเรียนรู้วิธีการฉีดยาที่ถูกต้องจากแพทย์ก่อนฉีดยาด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยอย่างละเอียดเมื่อต้องเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ใด ๆ ก็ตาม รวมทั้งพกบัตรประจำตัวที่มีรายละเอียดอาการแพ้ยา นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้ยาควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดที่ตนแพ้ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยาที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต