อาการโรคกระเพาะ เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่เยื่อบุภายในกระเพาะอาหารเกิดการอักเสบ โดยลักษณะอาการของโรคนี้จะมีอยู่หลายชนิด เช่น ปวดท้อง เรอ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการยังอาจคล้ายคลึงกับโรคชนิดอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งผู้ที่ป่วยแต่ละคนอาจพบอาการที่แตกต่างกันไปได้บ้าง
โรคกระเพาะ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคนี้ก็อาจเป็นไปได้หลายอย่าง ตั้งแต่การที่อายุเริ่มเพิ่มมากขึ้น การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ การสูบบุหรี่ การใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAID) ติดต่อกันนาน ๆ ไปจนถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย
สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ที่ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม การอักเสบของเยื่อบุภายในกระเพาะอาหารอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น กระเพาะอาหารเกิดแผล หรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
วิธีสังเกตอาการโรคกระเพาะ
อาการโรคกระเพาะสามารถเกิดได้หลายแบบ ทั้งแบบฉับพลันและแบบเรื้อรังที่อาการจะค่อย ๆ เกิด โดยในกรณีเรื้อรังจะสังเกตอาการได้ยากกว่า เนื่องจากผู้ป่วยมักมีอาการที่รุนแรงน้อยกว่า
โดยลักษณะอาการของโรคกระเพาะจะมีอยู่หลายชนิด และแต่ละคนอาจจะมีอาการที่แตกต่างกันไปได้บ้าง แต่กลุ่มอาการที่มักพบได้บ่อยก็เช่น
- ปวดท้องบริเวณเหนือสะดือ หรือบริเวณลิ้นปี่ โดยอาการจะยิ่งแย่ลงหรือดีขึ้นหลังจากรับประทานอาหาร
- เรอหรือสะอึกบ่อย
- เบื่ออาหาร หรืออิ่มไวผิดปกติ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ในกรณีที่พบได้น้อย บางคนอาจมีอาการอาเจียนหรืออุจจาระปนเลือด
วิธีรับมือกับอาการโรคกระเพาะ
ผู้ที่มีอาการโรคกระเพาะอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ด้วยตัวเองในเบื้องต้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้เยื่อบุภายในกระเพาะอาหารยิ่งเกิดการระคายเคืองมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- พยายามรับประทานอาหารให้เป็นเวลาและไม่อดอาหาร
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ น้ำชา หรือน้ำอัดลม
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีความเป็นกรด เช่น อาหารแปรรูปที่มีโซเดียมสูง น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ด เนื่องจากสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งเป็นสารที่มักพบได้ในอาหารกลุ่มนี้ อาจยิ่งส่งผลให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคือง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 3–4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
- นอนหนุนหมอนให้ระดับศีรษะและหัวไหล่สูงขึ้น เพื่อป้องกันกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นมาขณะนอนหลับ
- รับประทานยาลดกรดหรือยาแก้โรคกระเพาะเมื่อเกิดอาการ แต่ก่อนใช้ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
ทั้งนี้ วิธีบรรเทาอาการโรคกระเพาะเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งในการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จำเป็นต้องหาสาเหตุที่แน่ชัดและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยร่วมด้วย เนื่องจากอาการของโรคนี้ยังอาจเป็นกลุ่มอาการที่สามารถพบได้ในโรคอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ดังนั้น นอกจากการดูแลตัวเองแล้ว ผู้ที่พบอาการโรคกระเพาะที่กล่าวไปในข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสมร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ ได้แก่ รู้สึกปวดท้องขั้นรุนแรง อาเจียนบ่อย เวียนศีรษะ อาเจียนปนเลือด อุจจาระปนเลือด หรืออุจจาระมีสีดำผิดปกติ