ไข้เลือดออกเป็นการติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายจากการกัดของยุง โดยอาการไข้เลือดออกนั้นมีหลายระดับและเกิดขึ้นแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการในระดับรุนแรง ดังนั้น ทุกคนจึงควรระมัดระวังไม่ให้ถูกยุงกัด รวมถึงเฝ้าสังเกตอาการที่อาจเป็นสัญญาณของไข้เลือดออก เพื่อเตรียมตัวรับมือกับอาการที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันการณ์
ไข้เลือดออกเป็นอย่างไร ?
ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่คนได้จากการกัดของยุงที่อยู่ในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก พบได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิกตะวันตก โดยผู้ป่วยอาจมีอาการไข้เลือดออกในระดับเล็กน้อยไปจนถึงระดับรุนแรง ซึ่งคนส่วนใหญ่มักมีอาการดีขึ้นภายในหนึ่งสัปดาห์ แต่หากอาการแย่ลงและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือทันท่วงทีก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
อาการไข้เลือดออกมีอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นอาจไม่พบสัญญาณอาการใด ๆ ของโรคไข้เลือดออกหากป่วยในระดับที่ไม่รุนแรง แต่ก็อาจมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นได้ เช่น มีไข้สูงอย่างฉับพลัน หรือมีไข้สูงลอยประมาณ 3-5 วัน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดรอบกระบอกตา ปวดข้อและกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้นหลังป่วยเป็นไข้เลือดออกประมาณ 2-5 วัน มีเลือดออกเล็กน้อยอย่างเลือดออกตามไรฟันหรือมีจุดเลือดออกอยู่ใต้ผิวหนัง มีปริมาณเม็ดเลือดขาวต่ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยไข้เลือดออกบางรายอาจมีอาการจนไปถึงภาวะไข้เลือดออกเดงกี่ (Dengue Hemophage Fever) ที่อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่เป็นครั้งที่ 2 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้สูง หรือเคยเป็นไข้มาประมาณ 2-7 วัน เมื่อไม่นานมานี้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- อาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน
- มีภาวะเลือดออก เช่น เลือดออกภายในผิวหนังจนมองเห็นเป็นรอยช้ำ เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะเลือดออกที่รุนแรงอย่างเลือดออกทางช่องคลอด อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด และเลือดออกในกะโหลกศีรษะด้วย
- อุณหภูมิในร่างกายลดต่ำลงผิดปกติ
- เกล็ดเลือดต่ำ
- หายใจลำบากหรือหายใจถี่
- มีสัญญาณเริ่มต้นของอาการช็อก อย่างตัวซีดและเย็น รู้สึกกระสับกระส่าย หรือชีพจรเต้นอ่อนแต่เต้นเร็ว
- รับประทานอาหารไม่ได้ อ่อนเพลีย ดูซึมลง
- รู้สึกหงุดหงิด สับสน หรือกระสับกระส่าย
นอกจากนั้น หากอาการของโรคดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนเข้าสู่ภาวะไข้เลือดออกช็อก (Dengue Shock Syndrome) อาจส่งผลให้เกิดอาการ เช่น มีเลือดออกในปริมาณมาก ชีพจรเต้นอ่อนแต่เต้นเร็ว ง่วงซึม กระสับกระส่าย หรือช็อก เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วิธีดูแลตนเองหลังเกิดอาการไข้เลือดออก
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาไข้เลือดออกโดยเฉพาะ แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะร่างกายขาดน้ำจากการอาเจียนและมีไข้สูง และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ป่วยพบสัญญาณอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น กระหายน้ำ ปากแห้ง ง่วงซึม อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน และยานาพร็อกเซน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีอาการไข้เลือดออกอย่างรุนแรง เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน หายใจลำบาก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที และหากผู้ป่วยมีอาการแย่ลงภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากไข้ลดลง ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีด้วยเช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้