อาการไตเสื่อม คืออาการผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิมหรือทำงานได้น้อยลง ซึ่งอาการอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงจนถึงหลายวัน เนื่องมาจากภาวะไตวายเฉียบพลัน หรืออาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่า 3 เดือนหากมีโรคไตเรื้อรังก็ได้ การรู้จักสังเกตอาการไตเสื่อมต่าง ๆ อาจช่วยให้ผู้มีอาการเข้ารับการตรวจรักษาได้เร็วขึ้น
ไตเป็นอวัยวะที่อยู่บริเวณท้องของเรา โดยไตมีหน้าที่กรองของเสียและสารเคมีต่าง ๆ ออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ซึ่งเมื่อไตทำงานได้น้อยลง ของเสียต่าง ๆ จึงยังไหลเวียนอยู่ในร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติหรืออาการไตเสื่อมเกิดขึ้น โดยการสังเกตอาการเหล่านี้อาจช่วยให้รู้สัญญาณของโรคไตได้ล่วงหน้า
เช็คอาการไตเสื่อมเฉียบพลัน
อาการไตเสื่อมสามารถเกิดได้อย่างเฉียบพลันหรือเกิดเป็นระยะเวลานานกว่า 3 เดือนก็ได้ โดยอาการไตเสื่อมที่เกิดขึ้นกะทันหันในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันนั้นมาจากภาวะไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Injury) อาการนี้มักเกิดในผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาโรคอื่น ๆ ในโรงพยาบาล และผู้ป่วยหนักที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และพยาบาล
โดยอาการไตเสื่อมเฉียบพลันอาจมี ดังนี้
- ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย
- มีอาการบวมที่ขา ข้อเท้า หรือเท้า เนื่องจากของเหลวสะสมอยู่ในร่างกาย
- หายใจไม่ทัน และอ่อนเพลีย
- คลื่นไส้
- สับสน เลอะเลือน
- คัน
- เจ็บหน้าอกหรือรู้สึกถึงแรงกดทับที่อก
- ไม่มีความอยากอาหาร
- หากอาการหนักมาก อาจชักหรือโคม่า
ถึงแม้อาการไตเสื่อมเฉียบพลันจะมีหลายอย่าง แต่บางครั้งผู้ที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันก็อาจไม่มีอาการแสดงออกมาเลยได้ด้วย ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองอาจมีภาวะไตวายเฉียบพลันจึงควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย
เช็คอาการไตเสื่อมจากโรคไตเรื้อรัง
โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) เป็นโรคที่เกิดเมื่อไตทำงานน้อยลงอย่างต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือนจนส่งผลต่อสุขภาพ โดยอาจเป็นผลที่ต่อเนื่องจากภาวะไตวายเฉียบพลันซึ่งทำให้ไตได้รับความเสียหายด้วยได้ อาการไตเสื่อมจากโรคไตเรื้อรังในระยะแรก ๆ มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา หรือแสดงออกมาน้อยมาก ซึ่งอาการที่อาจเกิด เช่น
- ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ปัสสาวะอาจมีฟองด้วย
- คันตามร่างกาย หรือผิวแห้ง
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีความอยากอาหาร
- คลื่นไส้
- น้ำหนักลดเอง
เมื่อโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะหลังแล้วก็อาจมีอาการ ดังนี้
- แขน ขา ข้อเท้า และเท้ามีอาการชาหรือบวม
- คลื่นไส้อาเจียน
- หายใจไม่ทัน อ่อนเพลีย รู้สึกเหมือนป่วย
- ปวดเมื่อยหรือเป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
- มีปัญหาในการนอน นอนไม่หลับ
- ความดันเลือดสูง
โรคไตเรื้อรังอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคไตอื่น ๆ และเกิดไตวายได้ รวมถึงยังอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและสโตรก (Stroke) ด้วย ผู้ที่สังสัยหรือกังวลเกี่ยวกับสุขภาพไตจึงควรรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ่อนที่อาจเกิดตามมา
ภาวะไตเสื่อมและโรคไตเรื้อรังนั้นอาจรักษาหรือฟื้นฟูได้หากตรวจพบไว ดังนั้นเมื่อมีอาการไตเสื่อมหรือสงสัยว่าการทำงานของไตเสื่อมลงควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้ที่สูบบุหรี่หรือมีความดันเลือดสูง และผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคตับ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคหัวใจ ควรหมั่นสังเกตตัวเองเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที