การรับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือด เป็นแนวทางการรักษาสุขภาพแนวใหม่ที่หลายคนสนใจ เพราะเชื่อกันว่าอาจช่วยลดน้ำหนัก และป้องกันโรค แล้วสำหรับคนกรุ๊ปเลือด A จะมีอาหารประเภทใดที่เป็นประโยชน์และควรหลีกเลี่ยงบ้าง บทความนี้มีคำตอบ
แนวคิดการรับประทานอาหารตรงตามกรุ๊ปเลือดเกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า อาหารที่เราบริโภคในแต่ละวันทำปฏิกิริยาทางเคมีแตกต่างกันในแต่ละกรุ๊ปเลือด หากเรารับประทานอาหารที่เหมาะกับกรุ๊ปเลือดของตนเอง ก็ย่อมจะเป็นผลดีต่อร่างกาย เช่น ย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ น้ำหนักตัวลดลง มีพละกำลังมากขึ้น เป็นต้น แต่แนวคิดนี้ยังต้องการงานวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพอย่างชัดเจนหากต้องการใช้เป็นแนวทางในป้องกันโรคต่าง ๆ
อาหารที่มีประโยชน์และอาหารที่ควรเลี่ยงของคนกรุ๊ปเลือด A
กล่าวกันว่า คนกรุ๊ปเลือด A นั้นมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่ค่อยดีนักและมีแนวโน้มเกิดภาวะวิตกกังวล จึงควรรับประทานอาหารออแกนิค มังสวิรัติ หรือกึ่งมังสวิรัติอย่างผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช หรือปลามากกว่าเนื้อสัตว์ โดยตัวอย่างอาหารมีดังนี้
- ผักและผลไม้ โดยเฉพาะผักใบเขียวอย่างผักคะน้าหรือปวยเล้ง กระเทียม หัวหอม ขิง แครอท บรอกโคลี มะละกอ ถั่วงอก แตงกวา บลูเบอร์รี่ สับปะรด หรือแอปเปิ้ล
- ถั่วหรือธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง วอลนัท เมล็ดฟักทอง ข้าวบาร์เลย์ เป็นต้น
- อาหารทะเลและปลาทะเลในเขตหนาว อย่างปลาแซลมอนหรือปลาซาดีน
- อาหารประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะชาเขียว นมแพะ โปรตีนถั่วเหลืองอย่างเต้าหู้ น้ำมันมะกอก หรือน้ำมะนาวก็รับประทานได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่คนกรุ๊ปเลือด A ควรหลีกเลี่ยงหรือรับประทานให้น้อยลง เช่น
- เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อเป็ด เนื้อปลาอย่างปลาดุกหรือปลาหิมะ เป็นต้น ยกเว้นเนื้อไก่และไก่งวงที่รับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัดหรือน้อยลง
- ผักและผลไม้บางชนิด เช่น มันฝรั่ง มันหวาน มันเทศ มะเขือม่วง มะเขือเทศ พริก เห็ด เมล่อน ส้ม สตรอเบอร์รี่ มะม่วง เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชบางชนิด อย่างรำข้าวสาลี รวมไปถึงผลิตภัณฑ์คาร์โบไฮเดรตแปรรูป อย่างแป้งขัดขาวหรือขนมปังขาว
- อาหารประเภทอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมวัว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ วัตถุดิบสังเคราะห์ น้ำมันชนิดอื่นนอกจากน้ำมันมะกอก รวมถึงเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ด้วย
เนื่องจากในปัจจุบันการรับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อย่างชัดเจน หากต้องการปฏิบัติตามแนวคิดนี้ก็ควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนในทุก ๆ วัน โดยควรทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลถึงคำแนะนำในการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสมและปลอดภัยก่อนทุกครั้ง ส่วนผู้ที่ต้องการรับประทานเพื่อลดน้ำหนักก็ควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการในการวางแผนมื้ออาหารให้เหมาะสมที่สุด เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน