หลายคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการรับประทานอาหารให้เหมาะกับกรุ๊ปเลือดตนเอง ซึ่งเชื่อว่าจะมอบผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพให้กับผู้ปฏิบัติตาม ดังนั้นเราจึงรวบรวมอาหารที่ควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยงสำหรับคนเลือดกรุ๊ปบี (Blood Type B) มาฝากกันในบทความนี้
ก่อนจะเริ่มปรับเปลี่ยนส่วนประกอบในมื้ออาหารให้เหมาะกับกรุ๊ปเลือดของตน ต้องทราบก่อนว่า แนวคิดในการรับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากแพทย์ทางเลือกท่านหนึ่ง โดยเชื่อว่าอาหารที่รับประทานในแต่ละวันจะทำปฏิกิริยาทางเคมีต่อกรุ๊ปเลือด หากบริโภคอาหารที่เหมาะสม ร่างกายก็จะย่อยอาหารได้ดี น้ำหนักตัวลดลง มีเรี่ยวแรงมากขึ้น และต้านทานอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ด้วย ทว่าแนวคิดนี้ยังต้องมีการศึกษาถึงคุณประโยชน์ดังที่กล่าวมาในอนาคต เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อผู้บริโภคให้ได้มากที่สุดโดยเฉพาะผู้ที่สนใจรับประทานเพื่อป้องกันโรคหรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
อาหารที่คนเลือดกรุ๊ปบีควรรับประทานและควรหลีกเลี่ยง
กล่าวกันว่าคนเลือดกรุ๊ปบีนั้นสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ พืชผักผลไม้ หรือผลิตภัณฑ์นม โดยจะมีตัวอย่างเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- ผลไม้และผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ผักสลัด แตงกวา หรือแครอท
- เนื้อสัตว์อย่างเนื้อวัว ยกเว้นเนื้อไก่และหมู เครื่องในสัตว์อย่างตับ
- ไข่ นมชนิดไขมันต่ำ หรือผลิตภัณฑ์จากนมอย่างชีสบางชนิด
- อาหารทะเล เช่น กุ้ง ปู หอย ปลาทูน่า ปลาแซลมอน เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้คนเลือดกรุ๊ปบีจะเลือกรับประทานอาหารได้ทั้งสายมังสวิรัติหรือสายเนื้ออุดมโปรตีน แต่อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงก็มีเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- เนื้อไก่
- เนื้อหมู
- ข้าวโพด
- ข้าวสาลี
- ถั่วลิสง
- มะเขือเทศ
- เมล็ดงา
แม้ว่าผลลัพธ์หลังรับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดนั้นจะมีแนวโน้มไปในทางที่ดีในคนจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงกรุ๊ปเลือดและอาหารได้อย่างแน่ชัด จึงไม่อาจบอกได้ว่าแนวคิดนี้ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้สุขภาพดี อีกทั้งแต่ละคนก็มีแนวทางการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายแตกต่างกันไป เช่น ตนเองอาจต้องบริโภคโปรตีนเป็นหลัก ในขณะที่เพื่อนอาจต้องรับประทานผักและผลไม้จึงจะดีต่อสุขภาพมากกว่า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากสนใจรับประทานอาหารตามกรุ๊ปเลือดก็ควรเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ร่วมกับการดูแลตนเองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ เป็นต้น สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่มีเป้าหมายในการลดน้ำหนัก ควรปรึกษาและขอคำแนะนำจากแพทย์ในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพในอนาคต