การรับประทานอาหารบำรุงไตเป็นวิธีที่จะช่วยดูแลไตให้แข็งแรงและช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไต เนื่องจากไตเป็นอวัยวะสำคัญที่มีหน้าที่กรองและขับของเสียออกจากร่างกายเพื่อช่วยรักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุภายในร่างกาย ถ้าไตทำงานไม่สมบูรณ์ของเหลวในร่างกายจะเกิดความไม่สมดุลและอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคไตวายเฉียบพลัน
ดังนั้นจึงควรบำรุงไตด้วยอาหารที่มีประโยชน์เพื่อรักษาสุขภาพของไตให้ห่างไกลจากโรคอยู่เสมอ ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคไตก็สามารถศึกษาคุณประโยชน์ของอาหารเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภคเพื่อความปลอดภัย โดยในบทความนี้จะมาแนะนำอาหารบำรุงไตที่สามารถหารับประทานได้ง่าย
อาหารบำรุงไตที่หาได้ง่ายรอบตัวคุณ
อาหารที่เป็นมิตรต่อไตควรมีโซเดียม คอเลสเตอรอล และไขมันในปริมาณที่ต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบได้ในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ผัก และผลไม้สด ตัวอย่างอาหารบำรุงไตที่หารับประทานได้ง่าย เช่น
ปลาทะเล
ปลาทะเลอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 (Omega 3) ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อระบบการทำงานของร่างกายแต่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากการรับประทานอาหาร โดยปลาทะเลที่มีโอเมก้า 3 สูงและสามารถหาได้ง่าย เช่น ปลากะพงขาว ปลาทู ปลาทูน่า และปลาแซลมอน
โอเมก้า 3 มีประโยชน์ต่อร่างกายในการช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับหัวใจ เช่น ช่วยลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความดันโลหิต และลดการจับตัวของลิ่มเลือด ซึ่งโรคเกี่ยวกับหัวใจโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงสามารถสร้างความเสียหายให้แก่หลอดเลือดในไตและสามารถนำไปสู่การเกิดปัญหาเกี่ยวกับไตได้
อกไก่ไร้หนัง
เนื้อไก่เป็นโปรตีนที่มีไขมันน้อยโดยเฉพาะเนื้อส่วนอกที่ไม่มีหนัง อกไก่ไร้หนังประกอบด้วยฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และโซเดียมในปริมาณที่น้อยกว่าอกไก่ติดหนัง การรับประทานอกไก่ไร้หนังจึงทำให้ร่างกายได้รับโปรตีน ไขมัน และสารอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่มีไขมันมาก
การเลือกอกไก่ไร้หนังควรเลือกเนื้อไก่สดที่สะอาดจากร้านที่ได้มาตรฐานและนำมาประกอบอาหารเอง เนื่องจากเนื้ออกไก่ไร้หนังแบบพร้อมทานจากร้านอาหารมักใช้เครื่องปรุงปริมาณมากในการหมัก ซึ่งอาจทำให้มีโซเดียมและฟอสฟอรัสสูง
ผักตระกูลกะหล่ำ
ผักตระกูลกะหล่ำอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามินบี วิตามินเค และมีใยอาหารสูง แต่มีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมในปริมาณที่ต่ำ ซึ่งเหมาะสมกับผู้ที่ต้องการบำรุงสุขภาพไตให้ห่างไกลจากโรค ผักตระกูลกะหล่ำที่แนะนำให้รับประทาน เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร็อคโคลี่ และผักเคล แต่บร็อคโคลี่ควรรับประทานแบบดิบเนื่องจากบร็อคโคลี่ที่ปรุงสุกจะมีปริมาณโพแทสเซียมมากกว่า
ส่วนผักเคลนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค และแคลเซียม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังฟอกไตควรหลีกเลี่ยงการประทานผักเคล เนื่องจากมีวิตามินเคซึ่งมีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเลือด อีกทั้งยังมีปริมาณโพแทสเซียมในระดับปานกลาง
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซี ไฟเบอร์ และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนั้น ผลไม้ชนิดนี้ก็ยังมีปริมาณโพแทสเซียมที่ต่ำ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับสุขภาพไตอีกด้วย ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ที่แนะนำให้รับประทาน เช่น สตรอว์เบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และแครนเบอร์รี่
โดยเฉพาะบลูเบอร์รี่ เนื่องจากในผลไม้ชนิดนี้จะมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อว่าแอนโทไซยานิน (Anthocyanins) ที่อาจมีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมการทำงานของสมอง ช่วยป้องกันโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งโรคเบาหวานรวมถึงภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคไตได้
น้ำมันมะกอก
น้ำมันมะกอกเป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัวซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพ การเลือกรับประทานน้ำมันมะกอกแทนน้ำมันชนิดอื่นอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตตามมาได้
นอกจากนี้ ไขมันไม่อิ่มตัวส่วนใหญ่ที่พบในน้ำมันมะกอกจะเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่ชื่อว่ากรดโอเลอิก (Oleic Acid) ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ากรดไขมันชนิดนี้มีคุณสมบัติในการช่วยต้านการอักเสบด้วย
ตัวอย่างอาหารข้างต้นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาหารบำรุงไตเท่านั้น ยังมีอาหารอื่น ๆ ที่เป็นมิตรกับไตอีกไม่ว่าจะเป็นไข่ขาว นมไขมันต่ำ ถั่วประเภทต่าง ๆ ผักผลไม้สดบางชนิด เช่น แอปเปิ้ล องุ่นแดง และพริกหวาน อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาเกี่ยวกับข้อควรระวังก่อนการบริโภคเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงตามมา
ทิปเพิ่มเติมเพื่อบำรุงไตที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
นอกจากการรับประทานอาหารบำรุงไตแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำร้ายไตก็มีส่วนช่วยให้เราห่างไกลจากโรคไตได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ดื่มน้ำวันละ 6–8 แก้วเพื่อช่วยขับของเสียออกจากร่างกายและทำให้ไตทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- จำกัดปริมาณการบริโภคเกลือและน้ำตาลต่อวัน โดยควรบริโภคเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา และน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารกระป๋อง และอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว เนื้อสัตว์แปรรูป เนื่องจากสามารถส่งผลเสียต่อไตได้
- ทำอาหารเองและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารพร้อมทานจากร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากการทำอาหารเองจะสามารถควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและจำกัดปริมาณเครื่องปรุงได้
- ตรวจสอบข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหารก่อนเสมอ รวมถึงเน้นเลือกวัตถุดิบที่ระบุว่าเป็นสูตรโซเดียมต่ำหรือไม่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตวาย
เพื่อดูแลไตให้แข็งแรงและห่างไกลจากโรค ทุกคนควรใส่ใจในการเลือกรับประทานอาหารบำรุงไตควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำร้ายไต เพื่อช่วยป้องกันการเกิดโรคไตและป้องกันปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจส่งผลเสียต่อร่างกายในอนาคต