อินทผาลัม ผลไม้โบราณกับการเยียวยาสุขภาพ

อินทผาลัม เป็นผลไม้ที่มีรสหวานและอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น วิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ที่เชื่อว่าอาจมีฤทธิ์ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง และรักษาโรคบางชนิดได้

อินทผาลัมเป็นผลไม้ขนาดเล็ก โดย 1 ผล จะหนักประมาณ 7.5 กรัม และเนื้ออินทผาลัม 100 กรัม จะให้พลังงาน 314 แคลอรี่ และให้แร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายถึง 10 ชนิด เช่น ซีลีเนียม ทองแดง โพแทสเซียม แมกนีเซียม เป็นต้น ในปริมาณมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน รวมถึงให้สารอาหารสำคัญชนิดอื่น ๆ อย่างวิตามินบี วิตามินซี ธาตุเหล็ก และเส้นใยอาหารด้วย

อินทผาลัม

นอกจากนี้ อินทผาลัมยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอล (Polyphenol) ที่เชื่อว่าอาจช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เช่น ป้องกันเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ไม่ให้ถูกทำลายจากสารอนุมูลอิสระ และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เป็นต้น

สารอาหารต่าง ๆ ในอินทผาลัม

วิตามินและแร่ธาตุ

  • โพแทสเซียม อินทผาลัมเป็นแหล่งโพแทสเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกายหลายประการ เช่น ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ รักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือด รวมทั้งช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจ โดยอินทผาลัม 4 ผลมีโพแทสเซียมประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน    
  • ธาตุเหล็ก นอกจากโพแทสเซียมแล้ว อินทผาลัมยังเป็นแหล่งของธาตุเหล็กซึ่งเป็นสารสำคัญที่ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงซึ่งทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอินทผาลัม 4 ผลมีธาตุเหล็กประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำในแต่ละวัน
  • วิตามิน อินทผาลัมอุดมไปด้วยวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทั้งวิตามินบี 3 ที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาท และระบบย่อยอาหารให้ทำงานเป็นปกติ รวมถึงช่วยบำรุงให้ผิวหนังมีสุขภาพดี วิตามินบี 6  ที่ช่วยพัฒนาสมอง เสริมสร้างระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และวิตามินเอ ที่ช่วยบำรุงสายตา เสริมสร้างสุขภาพผิวหนังและเยื่อเมือกบุผิว ทั้งยังมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ในร่างกายด้วย

เส้นใยอาหาร

เส้นใยอาหารจะช่วยให้การขับถ่ายสะดวกขึ้น โดยช่วยเพิ่มปริมาณของเนื้ออุจจาระ ป้องกันอาการท้องผูกและช่วยทำให้อุจจาระนิ่มจนเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่าย นอกจากนี้ เส้นใยอาหารยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และช่วยลดน้ำหนักได้ เนื่องจากอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูงจะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้น โดยปริมาณของเส้นใยอาหารที่แนะนำให้บริโภคอยู่ที่ 25 กรัม/วัน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการเส้นใยอาหารของร่างกายแต่ละคนนั้นแตกต่างกันไปตามเพศและอายุด้วย โดยการรับประทานอินทผาลัม 4 ผลจะให้ปริมาณเส้นใยอาหาร 6.4 กรัม ซึ่งคิดเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภค/วันสำหรับผู้ชาย และ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับผู้หญิง  

สารต้านอนุมูลอิสระ

อินทผาลัมอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้ จากการศึกษาประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระของอินทผาลัมพบว่า อินทผาลัมมีสารต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะสารโพลีฟีนอลในปริมาณมาก เมื่อเปรียบเทียบกับบรรดาผลไม้แห้งชนิดอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า อินทผาลัมเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสารต้านอนุมูลอิสระ โดยการรับประทานผลอินทผาลัมที่เพิ่งสุกแบบสด ๆ จะให้คุณประโยชน์สูงสุดต่อร่างกายมากกว่าการรับประทานผลอินทผาลัมแห้ง

อินทผาลัมมีสรรพคุณรักษาโรคจริงหรือ ?

เนื่องจากอินทผาลัมเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จึงมีความเชื่อที่ว่าอินทผาลัมอาจช่วยรักษาโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อนบริโภคอินทผาลัมเพื่อหวังผลทางสุขภาพ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์บางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับสรรพคุณของอินทผาลัมไว้ ดังนี้

ลดรอยเหี่ยวย่น

อายุที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ประสิทธิภาพในการแบ่งเซลล์ผิวลดลง ทำให้ชั้นหนังแท้บางตัวลง โครงสร้างผิวไม่แข็งแรง ผิวหนังเริ่มหย่อนยาน สูญเสียความสามารถในการกักเก็บความชุ่มชื้น และผลิตน้ำมันได้น้อยลง ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดริ้วรอย อินทผาลัมอุดมไปด้วยสารไฟโตฮอร์โมน (Phytohormones) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต่อต้านริ้วรอย และมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากอินทผาลัมอาจช่วยลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าได้   

โดยการศึกษาหนึ่งได้ให้อาสาสมัครเพศหญิงสุขภาพแข็งแรงที่มีอายุอยู่ในช่วง 46-58 ปี จำนวน 10 ราย ทาครีมที่มีส่วนประกอบของเนื้ออินทผาลัม 5 เปอร์เซ็นต์ลงบนบริเวณรอบดวงตาวันละ 2 ครั้ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน 5 สัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับการทาครีมที่ไม่มีส่วนประกอบของเนื้ออินทผาลัมพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทดลองมีริ้วรอยที่ตื้นขึ้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลพบว่า ครีมที่มีส่วนผสมของอินทผาลัมมีประสิทธิภาพในการลดริ้วรอยได้ถึง 27.6 เปอร์เซ็นต์ และลดริ้วรอยที่ลึกได้ถึง 3.52 เปอร์เซ็นต์  

อย่างไรก็ตาม หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาในด้านนี้ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ควรค้นคว้าถึงคุณสมบัติด้านการลดริ้วรอยของอินทผาลัมในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ขึ้นต่อไป เพื่อหาข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนและนำผลลัพธ์ที่ได้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดริ้วรอยที่มีประสิทธิภาพในอนาคต

ป้องกันอัลไซเมอร์

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาภาวะสมองเสื่อมอย่างโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่เชื่อกันว่าเส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระอย่างโพลีฟีนอล แอนโทไซยานิน และกรดเฟอรูลิกในอินทผาลัมอาจมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของอัลไซเมอร์ได้ โดยมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าอินทผาลัมอาจช่วยพัฒนาความจำ และชะลออาการของโรคได้

โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาคุณประโยชน์ของอินทผาลัมที่ส่งผลต่อการพัฒนาความจำ การเรียนรู้ และการยับยั้งสารเบต้าแอมีลอยด์ (Beta Amyloid) ที่อาจทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ หลังการค้นคว้าพบว่า เส้นใยอาหาร สารฟีนอลิก และสารต้านอนุมูลอิสระในอินทผาลัมช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวและพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ของหนูทดลองได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาอีกชิ้นที่แสดงผลว่า หนูที่ได้รับสารสกัดจากอินทผาลัมมีความจำและพฤติกรรมที่ดีกว่าหนูที่ไม่ได้รับสารสกัดดังกล่าว สารสกัดจากอินทผาลัมจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงและชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ไม่เพียงพอที่จะใช้ยืนยันว่าอินทผาลัมช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง เนื่องจากมีเพียงการศึกษาทดลองในสัตว์ จึงจำเป็นต้องมีการทดลองในระยะยาวกับมนุษย์เพิ่มเติม เพื่อยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัยของอินทผาลัมก่อนนำมาใช้ประโยชน์ทางการรักษาโรคนี้

ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

อินทผาลัมเป็น 1 ในผลไม้ที่มีการกล่าวอ้างถึงคุณประโยชน์ว่าสามารถต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ เนื่องจากมีเส้นใยอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอลปริมาณมาก โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ค้นคว้าสรรพคุณของอินทผาลัมในห้องทดลองระบุว่า ใยอาหารและสารโพลีฟีนอลในอินทผาลัมช่วยบำรุงสุขภาพของลำไส้ใหญ่ โดยช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นได้ศึกษาผลกระทบของการบริโภคอินทผาลัมต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและสุขภาพของลำไส้ พบว่าอินผาลัมอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีผลต่อการลดเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้

แม้มีงานค้นคว้าบางส่วนแสดงถึงสรรพคุณต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ของสารในอินทผาลัม แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาขนาดเล็กและทดลองในห้องปฏิบัติการเท่านั้น จึงควรศึกษาค้นคว้าให้ชัดเจนในด้านนี้ต่อไปโดยทดลองในมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ควรดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการบริโภค เพื่อให้มีสุขภาพดีและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่

รับประทานอินทผาลัมอย่างไรให้ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ?

การรับประทานอินทผาลัมในปริมาณที่เหมาะสมนั้นปลอดภัยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นเดียวกับการบริโภคผลไม้ชนิดอื่น ๆ แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลและแคลอรี่สูง โดยอินทผาลัม 1 ผล จะมีน้ำตาลสูงถึง 4.1 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา ซึ่งปริมาณน้ำตาลที่แนะนำให้บริโภคในแต่ละวัน คือ ไม่เกิน 6 ช้อนชา ดังนั้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ชนิดนี้ หรือจำกัดปริมาณการบริโภคเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการใช้อินทผาลัมเพื่อรักษาหรือป้องกันโรคต่าง ๆ จึงไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไป ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร รวมทั้งอ่านคำแนะนำและข้อมูลโภชนาการบนฉลากอย่างละเอียดทุกครั้งก่อนใช้หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ใด ๆ จากอินทผาลัม