อิริทริทอล (Erythritol) เป็นสารให้ความหวานในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (Polyols) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน (Nutritive Sweetener) โดยอิริทริทอลพบได้ในผลไม้ เช่น องุ่น พีช แตงโม รวมทั้งไวน์ เบียร์ และชีส หรือสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ทดแทนน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม
อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานที่นิยมใช้ในวงการอาหาร เช่น เบเกอรี่ ลูกอม หมากฝรั่ง และเครื่องดื่มบางชนิด เพราะเป็นสารให้ความหวานที่ให้พลังงานต่ำ แต่ให้ความหวานได้ใกล้เคียงกับการใช้น้ำตาลปกติ จึงอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หากสงสัยว่าอิริทริทอลใช้แทนน้ำตาลได้อย่างไรและมีข้อควรรู้ก่อนรับประทานอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้แก่คุณ
ทำความรู้จักอิริทริทอล
อิริทริทอลเป็นวัตถุให้ความหวานในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับน้ำตาล โดยเป็นสารให้ความหวานที่ยังคงให้พลังงาน แต่ให้ในปริมาณที่ค่อนข้างต่ำ เช่นเดียวกับซอร์บิทอล (Sorbitol) ไซลิทอล (Xylitol) ไอโซมอลท์ (Isomalt) และแมนนิทอล (Mannitol)
อิริทริทอลมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวหรือเป็นผง มีความหวานเท่ากับ 70% ของน้ำตาลทราย แต่ให้พลังงานน้อยกว่า โดยน้ำตาลทรายให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม ขณะที่อิริทริทอลให้พลังงานเพียง 0.24 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม อิริทริทอลจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กอย่างรวดเร็วและขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมง จึงไม่เกิดกระบวนการเผาผลาญและเปลี่ยนเป็นพลังงานในร่างกาย
นอกจากนี้ อิริทริทอลมีค่าดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) เท่ากับ 0 ซึ่งเป็นค่าที่ช่วยให้ผู้ป่วยคาดคะเนการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต การใช้อิริทริทอลที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำในการปรุงอาหารจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด อย่างผู้ที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และเบาหวาน (Diabetes) มากกว่าอาหารที่มีน้ำตาลทราย
นอกจากนี้ อิริทริทอลช่วยลดการเติบโตของแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดฟันผุ จึงนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในหมากฝรั่งที่ไม่ผสมน้ำตาล ยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก เช่นเดียวกับไซลิทอลและซอร์บิทอล
รับประทานอิริทริทอลอย่างไรให้เหมาะสม
อิริทริทอลสามารถใช้ผสมในอาหารแทนการใช้น้ำตาลทราย เช่น ชา กาแฟ หรือผสมในอาหารคาวและหวานได้หลายเมนู โดยในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลของปริมาณสูงสุดที่บริโภคได้ต่อวันอย่างแน่ชัด แต่ปริมาณที่คนส่วนใหญ่รับประทานอิริทริทอลแล้วมักไม่มีอาการข้างเคียงอยู่ที่ไม่เกิน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ผู้ที่มีน้ำหนักตัว 68 กิโลกรัม ไม่ควรรับประทานอิริทริทอลเกิน 68 กรัม หรือประมาณ 13 ช้อนชาต่อวัน
การใช้อิริทริทอลในการปรุงอาหารแทนน้ำตาลทรายอาจช่วยให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีและอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานได้ เพราะให้พลังงานต่ำและไม่ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดเท่ากับการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลทราย แต่ไม่ควรรับประทานในปริมาณมากเกินไป เพราะอาจทำให้บางคนท้องเสียได้
ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ปราศจากน้ำตาลเสมอ เพราะอาจได้รับคาร์โบไฮเดรตหรือพลังงานจากส่วนประกอบอื่น ๆ ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรับประทานอาหาร และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ข้อควรระวังในการรับประทานอิริทริทอล
อิริทริทอลจะถูกดูดซึมก่อนจะเข้าสู่ลำไส้และถูกขับออกทางปัสสาวะ คนทั่วไปสามารถรับประทานอิริทริทอลได้อย่างปลอดภัย แต่การได้รับอิริทริทอลในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้บางคนเกิดอาการผิดปกติเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับน้ำตาลแอลกอฮอล์ชนิดอื่น เช่น
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ท้องเสีย หรือถ่ายบ่อยกว่าปกติ
- ทำให้อาการของโรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) โรคโครห์น (Crohn's Disease) และโรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis) แย่ลง
ผู้ที่ตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตรสามารถรับประทานอิริทริทอลได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน เพราะการรับประทานอิริทริทอลอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผื่นแดงคัน ปากและใบหน้าบวม และหายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์
อิริทริทอลเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาลทราย แต่ให้พลังงานต่ำ อีกทั้งไม่ส่งผลต่อระดับอินซูลินและน้ำตาลในเลือด ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือผู้ป่วยเบาหวานจึงสามารถรับประทานได้ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้ป่วยเบาหวานควรสังเกตอาการและตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ หากระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงหรือลดลงมากผิดปกติหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที