อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) กับความสำคัญที่ร่างกายขาดไม่ได้

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) คือกลุ่มของแร่ธาตุที่มีประจุไฟฟ้าบวกและลบ ซึ่งมีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนประกอบที่พบในเลือด เหงื่อ ปัสสาวะ ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ และหลอดเลือด เป็นต้น

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะสูญเสียอิเล็กโทรไลต์จากการเสียเหงื่อหรือการเจ็บป่วย โดยไม่สามารถสร้างอิเล็กโทรไลต์เกือบทุกชนิดได้เอง มักจะได้รับจากอาหารและเครื่องดื่มที่เรารับประทานเท่านั้น การมีระดับอิเล็กโทรไลต์แต่ละชนิดในร่างกายมากหรือน้อยเกินไป มักก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา

อิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes)

ความสำคัญของอิเล็กโทรไลต์ต่อร่างกาย

อิเล็กโทรไลต์ที่พบในร่างกายมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายด้าน เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ ดังนี้

1. โซเดียม (Sodium)

โซเดียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ที่พบมากที่สุดในร่างกาย ช่วยรักษาความสมดุลของปริมาณของเหลวในร่างกาย ช่วยในการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เซลล์ และช่วยสร้างกระแสประสาท (Nervous Impulses) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ การมีปริมาณโซเดียมมาก หรือน้อยเกินไป จึงส่งผลเสียต่อหลายระบบในร่างกาย 

โซเดียมพบมากในเกลือชนิดต่าง ๆ ซีอิ๊วปรุงอาหาร ผงชูรส ของหมักดอง ชีส และอาหารแปรรูป โดยในแต่ละวันร่างกายต้องการโซเดียมในปริมาณน้อย คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน 

2. โพแทสเซียม (Potassium)

โพแทสเซียมช่วยควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อ และควบคุมระดับความดันโลหิต เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันโลหิตสูง โพแทสเซียมพบมากในผักผลไม้ เช่น กล้วย ส้ม ผักปวยเล้ง มันฝรั่ง บร็อคโคลี ผลิตภัณฑ์นม และถั่วต่าง ๆ 

หากร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมมากหรือน้อยเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทและหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

3. คลอไรด์ (Chloride)

คลอไรด์ช่วยควบคุมสมดุลของเหลวของเซลล์ ช่วยรักษาความเป็นกรดและด่างในร่างกาย กระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะที่ใช้ในกระบวนการย่อยอาหาร กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทและกล้ามเนื้อ และช่วยในการไหลเวียนของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ภายในเซลล์ คลอไรด์พบมากในเกลือ และอาหารทะเล เช่น กุ้ง สาหร่าย

ปริมาณคลอไรด์ในร่างกายส่งผลต่อความเป็นกรดและด่างของเลือด หากมีปริมาณมากเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด (Acidosis) และหากมีปริมาณน้อยไป อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis)

4. แคลเซียม (Calcium)

แคลเซียมเป็นอิเล็กโทรไลต์ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ช่วยควบคุมกล้ามเนื้อ การส่งกระแสประสาทของระบบประสาท ช่วยในการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ที่จำเป็นภายในร่างกาย แคลเซียมพบในผลิตภัณฑ์นม ปลาและอาหารทะเลที่มีเปลือก ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืช

หากร่างกายมีปริมาณแคลเซียมมากหรือน้อยเกินไป อาจทำให้การทำงานของไตผิดปกติ เกิดนิ่วในไต หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนแอหรือบางลง เกิดปัญหากับระบบย่อยอาหารและการทำงานของสมอง

5. แมกนีเซียม (Magnesium)

แมกนีเซียมมีความสำคัญต่อร่างกายหลายด้าน เช่น การทำงานของระบบประสาท หัวใจ กล้ามเนื้อ ช่วยปรับสมดุลอารมณ์และช้วยในการนอนหลับ รวมถึงการเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน แมกนีเซียมพบมากในถั่ว ข้าวกล้อง เมล็ดพืช และปลาที่มีกรดไขมันสูง

การขาดแมกนีเซียมอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือกระตุก มีอารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ และหัวใจทำงานผิดปกติ ส่วนการมีแมกนีเซียมในร่างกายมากเกินไป อาจส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติหรือไตวาย แต่เป็นภาวะที่พบได้ยาก

6. ฟอสเฟต (Phosphate)

ฟอสเฟต หรือฟอสฟอรัส เป็นอิเล็กโทรไลต์ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำงานร่วมกับแคลเซียมในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและฟัน เป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย และช่วยในการผลิตสารพันธุกรรม (DNA) 

ฟอสฟอรัสพบในอาหารหลายชนิด เช่น ถั่ว เมล็ดพืช นม ไข่ เนื้อสัตว์ หากร่างกายขาดฟอสฟอรัสหรือมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อกระดูก กล้ามเนื้อ ผิวหนัง และการทำงานของหัวใจ 

7. ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate)

ไบคาร์บอเนตคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนที่เหลือจากการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน ซึ่งไบคาร์บอเนตไม่ถูกร่างกายกำจัดออกผ่านทางการหายใจออกเหมือนกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากไบคาร์บอเนตมีความสำคัญในการรักษาสมดุลของเหลวและความเป็นกรดและด่างในเลือด หากระดับไบคาร์บอเนตในร่างกายผิดปกติ อาจทำให้เลือดเป็นกรดหรือด่าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย

รู้ทันภาวะอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะรักษาระดับอิเล็กโทรไลต์ชนิดต่าง ๆ ด้วยการดูดซึมของระบบทางเดินอาหาร เพื่อนำไปใช้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และจะกำจัดอิเล็กโทรไลต์ส่วนเกินออกทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่บางครั้ง ภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte imbalances) หรือการมีแร่ธาตุบางอย่างในร่างกายมากหรือน้อยเกินไป อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

โดยอาจเกิดจากการเสียเหงื่อมาก การท้องเสียหรืออาเจียนอย่างรุนแรง การดื่มน้ำมากหรือน้อยเกินไป การรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุ แผลไฟไหม้อย่างรุนแรง หรือโรคประจำตัว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคตับ และความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร หากภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ไม่รุนแรงอาจไม่ทำให้เกิดอาการที่ชัดเจน แต่เมื่ออาการรุนแรงขึ้นอาจมีอาการผิดปกติ เช่น

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง
  • ชาตามร่างกาย เป็นตะคริว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกบาง
  • ปวดหัว
  • กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ
  • หัวใจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือเต้นผิดหวะ ความดันโลหิตผิดปกติ
  • สับสน
  • ชัก โคม่า และเสียชีวิต

หากมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับอิเล็กโทรไลต์ ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ และรับการรักษาต่อไป

อิเล็กโทรไลต์เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ที่ดีที่สุดคือการรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุเหล่านี้สูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช และเนื้อสัตว์ รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละประมาณวันละ 8–10 แก้ว โดยเฉพาะวันที่อากาศร้อน ทำกิจกรรมที่เสียเหงื่อมาก หรือมีอาการท้องเสียและอาเจียน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ