อุจจาระสีดำ เรื่องธรรมดาหรือสัญญาณบอกโรค ?

หลายคนอาจตกใจเมื่อถ่ายเป็นอุจจาระสีดำ ซึ่งความจริงแล้วการรับประทานอาหารที่มีสีเข้มเข้าไปนั้นอาจทำให้อุจจาระเป็นสีดำได้ แต่อุจจาระสีดำก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติในร่างกายได้ เช่น ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารหรือหลอดอาหาร เป็นต้น ดังนั้น หากสังเกตพบว่าตนเองถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ

อุจจาระ(สีดำ)

สีปกติของอุจจาระ  

โดยปกติแล้วอุจจาระมักมีสีน้ำตาล หลายคนจึงอาจรู้สึกกังวลเมื่อสีของอุจจาระเปลี่ยนไป ซึ่งสีของอุจจาระนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ในน้ำดีที่เกิดจากการสลายของเซลล์เม็ดเลือดแดง ความเข้มข้นของสารบิลิรูบินจะทำให้อุจจาระมีสีแตกต่างกันไป ตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม โดยหากปริมาณของสารบิลิรูบินจากตับลดลงอาจทำให้อุจจาระมีสีเหลือง และหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของสารบิลิรูบินก็อาจทำให้อุจจาระมีสีเหลืองหรือสีเขียวได้

นอกจากนี้ เอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ก็อาจส่งผลต่อปริมาณของสารบิลิรูบินจนทำให้อุจจาระมีสีเปลี่ยนไปจากเดิมได้เช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสีของอุจจาระที่เปลี่ยนไปก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากถ่ายออกมาเป็นอุจจาระสีดำหรือมีสีเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องบ่อยครั้ง ก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ

อุจจาระสีดำเกิดจากอะไร ?

ปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้อาจทำให้เกิดอุจจาระสีดำได้

  • ทารกแรกเกิด เด็กแรกเกิดมักถ่ายอุจจาระเป็นสีดำในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด
  • การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีสีเข้มมาก ๆ เช่น บลูเบอร์รี่ ดาร์คช็อกโกแลต เป็นต้น
  • การใช้ยาและอาหารเสริมบางชนิด เช่น อาหารเสริมธาตุเหล็ก และยาที่มีส่วนผสมของธาตุบิสมัท (Bismuth) เป็นต้น
  • การไหลเวียนเลือดผิดปกติ มีการไหลเวียนเลือดในระบบย่อยอาหารผิดปกติ เช่น ภาวะขาดเลือดในลำไส้ หลอดเลือดผิดปกติ และหลอดเลือดอาหารโป่งพอง เป็นต้น
  • ภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น มีเลือดออกในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดจากแผลในทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ เนื้องอก หรือมะเร็ง  

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

หากพบว่าตนเองถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำเข้ม และมีลักษณะเปียกหรือเหนียวคล้ายยางมะตอยโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารหรือยา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุทันที เพราะอาจเสี่ยงเผชิญปัญหาสุขภาพบางประการได้

อุจจาระสีดำ รักษาอย่างไร ?  

แนวทางการรักษาอาการอุจจาระสีดำนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร และอาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะและยากดภูมิคุ้มกันในกรณีที่กระเพาะอาหารติดเชื้อหรือเกิดโรคที่มีการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีอุจจาระสีดำจากความผิดปกติของหลอดเลือดหรือหลอดเลือดอุดตันแล้วเลือดไหลไม่หยุด แพทย์อาจต้องผ่าตัดเพื่อรักษาอาการดังกล่าว เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งแพทย์อาจต้องให้เลือดผู้ป่วยด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดงในร่างกาย

อุจจาระสีดำป้องกันอย่างไร ?

เคล็ดลับต่อไปนี้อาจช่วยป้องกันการเกิดอุจจาระสีดำได้

  • ดื่มน้ำ ควรดื่มน้ำสะอาดเพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำเพียงพอในแต่ละวันและทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ โดยควรดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมกลางแจ้งด้วย
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ถั่ว ธัญพืช เมล็ดเจีย แอปเปิ้ล และบร็อคโคลี่ เป็นต้น เพราะจะช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายได้ง่าย โดยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสมหากกำลังป่วยด้วย เพราะผลไม้บางชนิดอาจทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารระคายเคืองได้
  • งดหรือจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ควรดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 หน่วยบริโภค/วัน และผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 หน่วยบริโภค/วัน เพราะการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบและโรคตับได้