อุจจาระสีเขียว รู้จักสาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อุจจาระสีเขียวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสาเหตุมักมาจากการรับประทานอาหารที่มีสีเขียว น้ำเงิน และสีม่วง การรับประทานยาและอาหารเสริมบางชนิด นอกจากนี้ อุจจาระสีเขียวอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ โรคโครห์น และการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

อุจจาระเป็นหนึ่งในวิธีกำจัดของเสียของร่างกาย โดยปกติแล้ว อุจจาระมักมีสีน้ำตาล ซึ่งเกิดจากการผสมกันระหว่างสีของอาหารที่รับประทานและน้ำดี ซึ่งเป็นของเหลวสีเหลืองหรือสีเขียวที่มีหน้าที่ช่วยในการย่อยไขมันในอาหาร หากสีอุจจาระเปลี่ยนไปเป็นสีอื่น อาจบ่งบอกถึงอาการหรือโรคบางชนิดที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้

อุจจาระสีเขียว

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุจจาระสีเขียว

อุจจาระสีเขียวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. การรับประทานอาหาร

อุจจาระสีเขียวส่วนใหญ่มักเกิดจากการรับประทานอาหาร โดยการรับประทานผักหรือผลไม้สีเขียวในปริมาณมาก เช่น อะโวคาโด องุ่นเขียว ปวยเล้ง หรือบร็อกโคลี อาจส่งผลให้อุจจาระเปลี่ยนเป็นสีเขียวได้

นอกจากนี้ อุจจาระสีเขียวอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสีน้ำเงินหรือสีม่วงในปริมาณมาก เช่น บลูเบอร์รี ไอศกรีม น้ำผลไม้ที่มีสีม่วงหรือสีน้ำเงิน

2. ท้องเสีย

อุจจาระสีเขียวอาจเกิดขึ้นเมื่อมีอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการที่ถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาหารเป็นพิษ ลำไส้อักเสบ โรคเซลิแอค โรคลำไส้แปรปรวน โรคโครห์น 

โดยปกติแล้ว น้ำดีจะช่วยย่อยไขมันในอาหาร จากนั้นร่างกายอาจสลายน้ำดีให้กลายเป็นของเสียเมื่อน้ำดีเคลื่อนที่ผ่านลำไส้เล็ก แต่เมื่อมีอาการท้องเสีย อุจจาระอาจเคลื่อนที่ผ่านลำไส้เล็กเร็วกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ร่างกายสลายน้ำดีไม่ทัน จึงทำให้มีอุจจาระสีเขียว เพราะมีน้ำดีที่ร่างกายยังไม่ย่อยสลายปะปนอยู่

3. การรับประทานยาหรืออาหารเสริม

การรับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดอุจจาระสีเขียวได้ เช่น

4. ปัญหาเกี่ยวกับตับหรือถุงน้ำดี

อุจจาระสีเขียวอาจเกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับหรือถุงน้ำดี เช่น โรคไขมันพอกตับ หรือโรคที่ส่งผลให้การผลิตน้ำดีเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อาจมีอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลวร่วมกับอุจจาระสีเขียวด้วย ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการมีปริมาณน้ำดีในอุจจาระมากเกินไป

5. การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือพยาธิในระบบทางเดินอาหารอาจทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระมีสีเขียวหรือถ่ายอุจจาระเหลว ซึ่งเกิดจากการที่อาหารเคลื่อนที่เร็วกว่าปกติ และอาจทำให้น้ำดีไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างเต็มที่ จึงอาจส่งผลอุจจาระมีสีเขียวหรือสีส้ม

นอกจากนี้ อุจจาระสีเขียวอาจพบได้ในทารกแรกเกิด โดยทารกอาจขับถ่ายอุจจาระสีเขียวเข้ม เหนียว หรือที่เรียกว่าขี้เทา (Meconium) ภายใน 1–2 วันหลังคลอด นอกจากนี้ ทารกที่ดื่มนมแม่หรือดื่มนมสูตรโปรตีนไฮโดรไลเสต (Protein hydrolysate) สำหรับทารกที่แพ้นมวัวหรือถั่ว อาจขับถ่ายอุจจาระสีเขียวได้

อุจจาระสีเขียวกับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ถึงแม้ว่าอุจจาระสีเขียวมักไม่อันตราย และอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าหากมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป โดยอาการดังกล่าวอาจมีดังนี้

  • มีไข้สูง
  • ปวดท้อง 
  • ท้องเสียหรือถ่ายเหลวนานเกิน 2 วัน
  • ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
  • น้ำหนักลดลง
  • มีสัญญาณของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะมีสีเข้ม เวียนศีรษะ ปากแห้ง อ่อนเพลีย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว หรือหมดสติ

นอกจากนี้ หากพบว่าอุจจาระมีเลือดปน ซึ่งอุจจาระอาจมีสีดำหรือสีแดง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอุจจาระสีดำหรือสีแดงมักบ่งบอกถึงการมีเลือดออกภายในลำไส้ หรืออาการร้ายแรงอื่น ๆ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ หากได้รับการตรวจอาการอย่างรวดเร็ว อาจช่วยให้ได้รับการรักษาอาการดังกล่าวได้อย่างทันที