ฮีโมโกลบินสำคัญต่อสุขภาพอย่างไร

ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) คือส่วนประกอบสำคัญของเลือดที่ขาดไม่ได้ เพราะมีหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของระดับฮีโมโกลบินในเลือด อาจเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพหลายประการ หากมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับฮีโมโกลบินเพียงพอ จะช่วยให้ตระหนักถึงความเสี่ยงและเตรียมรับมือปัญหาสุขภาพได้อย่างถูกต้องเมื่อเกิดความผิดปกติของระดับฮีโมโกลบิน

ฮีโมโกลบิน

ฮีโมโกลบินคืออะไร ?

ฮีโมโกลบิน เป็นโมเลกุลโปรตีนภายในเซลล์เม็ดเลือดแดง เกิดจากโมเลกุลโปรตีน 4 ตัวที่เชื่อมต่อกัน หรือเรียกว่าสายโกลบูลิน (Globulin Chains) โดยปกติโครงสร้างของฮีโมโกลบินในผู้ใหญ่จะประกอบไปด้วยสายโกลบูลินชนิดอัลฟา 2 ตัว และสายโกลบูลินชนิดเบต้า 2 ตัว ส่วนในทารกพบเพียงสายโกลบูลินชนิดอัลฟา 2 ตัว และสายโกลบูลินชนิดแกมมา 2 ตัว ไม่พบสายโกลบูลินชนิดเบต้า แต่เมื่อทารกเริ่มโตขึ้น สายโกลบูลินชนิดแกมมาจะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยสายโกลบูลินชนิดเบต้า และกลายเป็นโครงสร้างของฮีโมโกลบินแบบผู้ใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้สายโกลบูลินแต่ละตัวไม่เพียงเป็นโครงสร้างสำคัญของฮีโมโกลบินเท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยสารในกลุ่มพอฟีรีนที่มีชื่อว่าฮีม (Heme) อันมีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารฮีมนี้ทำหน้าที่ดักจับและขนส่งออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด

ฮีโมโกลบินที่พบได้ทั่วไปมี 3 ชนิด ได้แก่

  • ฮีโมโกลบิน เอ (Hemoglobin A) เป็นฮีโมโกลบินชนิดที่พบได้มากที่สุดในคนวัยผู้ใหญ่ แต่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคบางชนิด เช่น โรคธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง อาจมีระดับฮีโมโกลบินชนิดนี้ลดลงได้
  • ฮีโมโกลบิน เอฟ (Hemoglobin F) พบในทารกที่อยู่ในครรภ์และเด็กแรกเกิด ซึ่งฮีโมโกลบินชนิดนี้จะถูกแทนที่ด้วยฮีโมโกลบิน เอ ภายในไม่นานหลังจากเกิด หลังจากนั้นร่างกายจะผลิตฮีโมโกลบิน เอฟออกมาในปริมาณน้อยมาก แต่หากป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาจพบฮีโมโกลบินชนิดนี้ในปริมาณสูงได้
  • ฮีโมโกลบิน เอ2 (Hemoglobin A2) เป็นฮีโมโกลบินที่พบในผู้ใหญ่ แต่มีปริมาณเพียงเล็กน้อย

นอกจากนี้ ยังมีฮีโมโกลบินชนิดที่ผิดปกติอีกกว่า 350 ชนิด ซึ่งอาจพบในผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบเลือดหรือคนบางกลุ่มชาติพันธุ์ โดยชนิดที่พบได้บ่อย คือ

  • ฮีโมโกลบิน เอส (Hemoglobin S) พบในผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
  • ฮีโมโกลบิน ดี (Hemoglobin D) พบในผู้ป่วยโรคโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงรูปเคียวบางราย
  • ฮีโมโกลบิน ซี (Hemoglobin C) พบในผู้ป่วยที่มีภาวะฮีโมโกลบินดักจับออกซิเจนได้ไม่ดีเพียงพอ
  • ฮีโมโกลบิน อี (Hemoglobin E) อาจพบได้ในคนที่สืบเชื้อสายจากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ฮีโมโกลบิน เอส และฮีโมโกลบิน ซี เป็นฮีโมโกลบินชนิดผิดปกติที่ตรวจพบได้บ่อยที่สุด

ฮีโมโกลบินมีหน้าที่อย่างไร ?

หน้าที่สำคัญของฮีโมโกลบินคือการลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเนื้อเยื่อกลับมายังปอด ทั้งยังช่วยรักษารูปร่างของเม็ดเลือดแดงให้เป็นปกติ คือมีลักษณะเป็นวงกลมและตรงกลางเว้าคล้ายโดนัท แต่ไม่เป็นรู หากโครงสร้างของฮีโมโกลบินผิดปกติจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่าางต่างไปจากเดิม และอาจขัดขวางการไหลเวียนของเลือดได้

วิธีตรวจหาความผิดปกติของฮีโมโกลบิน

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะตรวจวัดระดับหรือตรวจชนิดฮีโมโกลบินหากสงสัยว่าอาการเจ็บป่วยอาจเกิดจากความผิดปกติของฮีโมโกลบิน โดยวิธีตรวจที่นิยมใช้ ได้แก่

  • การตรวจวัดความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากจะช่วยระบุได้ว่าผู้ป่วยมีระดับฮีโมโกลบินสูงหรือต่ำกว่าปกติ ซึ่งระดับฮีโมโกลบินที่ผิดปกติ อาจบ่งบอกถึงโรคบางชนิดได้
  • การตรวจชนิดของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin Electrophoresis) เป็นการตรวจชนิดของฮีโมโกลในเลือดโดยเฉพาะ ช่วยให้แพทย์ระบุอาการเจ็บป่วยของผู้ป่วยได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้วินิจฉัยโรคโลหิตจางบางชนิด ตรวจวัดการรักษาโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของฮีโมโกลบิน รวมทั้งตรวจประเมินความเสี่ยงในการถ่ายทอดพันธุกรรมโรคโลหิตจางไปสู่ลูก

ระดับฮีโมโกลบินในเลือดควรมีปริมาณเท่าไร ?

คนปกติมีระดับฮีโมโกลบินแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ เพศ อายุ ความสูง รวมทั้งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ซึ่งระดับฮีโมโกลบินโดยทั่วไปควรแสดงค่าดังนี้

  • เด็กแรกเกิด มีค่าฮีโมโกลบิน 14-24 กรัมต่อเดซิลิตร
  • ทารก มีค่าฮีโมโกลบิน 9.5-13 กรัมต่อเดซิลิตร
  • ผู้ชาย มีค่าฮีโมโกลบิน 13.8-17.2 กรัมต่อเดซิลิตร
  • ผู้หญิง มีค่าฮีโมโกลบิน 12.1-15.1 กรัมต่อเดซิลิตร

ทั้งนี้ ระดับฮีโมโกลบินที่ตรวจวัดจริงอาจแตกต่างจากข้างต้นได้เล็กน้อย ขึ้นอยู่กับวิธีตรวจและเกณฑ์การวัด ผู้รับการตรวจควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลการตรวจโดยละเอียดจะดีที่สุด

ระดับฮีโมโกลบินบอกอะไรเกี่ยวกับสุขภาพ ?

ระดับฮีโมโกลบินในเลือดบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ เนื่องจากการลดลงหรือเพิ่มขึ้นของฮีโมโกลบินที่ผิดปกตินั้นอาจมีสาเหตุจากอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ

ระดับฮีโมโกลบินต่ำ คือภาวะที่ระดับฮีโมโกลบินลดลงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอาจมีสาเหตุดังต่อไปนี้

  • ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ เนื่องจาก
    • ภาวะขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12 หรือวิตามินบี 6 เป็นต้น
    • ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงไม่ได้ เป็นผลจากโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมถึงการได้รับพิษจากยา การรักษาด้วยรังสี การติดเชื้อ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับไขกระดูกโดยตรง
    • อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น
  • ร่างกายทำลายเม็ดเลือดแดงมากเกินไป เนื่องจาก
    • ภาวะม้ามโต
    • โรคธาลัสซีเมีย
    • ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกผิดปกติ
    • โรคโลหิตจางที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงหมดอายุเร็วกว่าปกติ (Hemolytic Anemia)
    • โรคโพรพีเรีย (Porphyria)
  • มีภาวะเสียเลือดมากผิดปกติ เช่น

ระดับฮีโมโกลบินสูง ภาวะระดับฮีโมโกลบินสูงมักเกิดจากการมีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยอาจเกิดขึ้นจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลมาก ๆ
  • ร่างกายขาดน้ำมากเกินไป
  • สูบบุหรี่
  • หัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด
  • ภาวะหัวใจวายที่ห้องหัวใจข้างขวา
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง
  • ภาวะพังผืดที่ปอด หรือโรคปอดชนิดรุนแรง
  • ความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแดงในไขกระดูก ส่งผลให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินมากผิดปกติ แต่เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก