เครื่องช่วยหายใจ และข้อควรรู้

เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ อันเนื่องมาจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือการผ่าตัด ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของผู้ป่วยอย่างมาก ญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วยจึงควรทำความรู้จักกับอุปกรณ์ชนิดนี้ รวมถึงวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม

เครื่องช่วยหายใจ

เครื่องช่วยหายใจ ถูกเชื่อมต่อกับผู้ป่วยด้วยท่อกลวงที่ส่งออกซิเจนไปยังผู้ป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง โดยมักใช้ในช่วงระยะสั้น ๆ เท่านั้น เช่น ระหว่างการผ่าตัดที่ต้องใช้ยาสลบ แต่มีบางรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาวหรือตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เครื่องช่วยหายใจเป็นเพียงอุปกรณ์ช่วยชีวิต เพื่อประคับประคองการหายใจของผู้ป่วยไปจนกว่าอาการจะดีขึ้นเท่านั้น ไม่อาจช่วยรักษาโรคได้ ผลการรักษาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องช่วยหายใจ

ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจมีทั้งหมด 2 ชนิด คือ

  • เครื่องช่วยหายใจชนิดธรรมดา (Conventional Ventilator) มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากการใช้งานไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก ทั้งยังใช้ได้กับผู้ป่วยทุกวัย โดยรูปแบบการทำงานของเครื่องสอดคล้องกับปอดของคนทั่วไป ระดับปริมาตรอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยจึงใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
  • เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High Frequency Ventilator) มักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจลำบาก เนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ เครื่องช่วยหายใจชนิดนี้มีการสูบฉีดออกซิเจนค่อนข้างถี่ ปริมาตรของอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับออกซิเจนของปอดในขณะนั้น

วัตถุประสงค์ของการใช้เครื่องช่วยหายใจ

การใช้เครื่องช่วยหายใจกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้เอง หรือการหายใจยังไม่เป็นปกติ มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างเหมาะสม
  • ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่ได้รับยาสลบจากการผ่าตัด
  • ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเป็นปกติ ในกรณีที่มีอาการป่วยรุนแรง หรืออุบัติเหตุอันส่งผลต่อการหายใจ

ประโยชน์ของเครื่องช่วยหายใจ

เครื่องช่วยหายใจเป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจได้อย่างปกติ โดยมีข้อดีหลัก ๆ ดังนี้

  • ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีระบบทางเดินหายใจผิดปกติหายใจได้ดีขึ้น เนื่องจากรูปแบบการทำงานของเครื่องใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ
  • ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาหายใจได้เป็นปกติ
  • ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนเพียงพอ
  • ช่วยส่งเสริมการรักษาและการฟื้นตัวของผู้ป่วย

ความเสี่ยงจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ

แม้เครื่องช่วยหายใจจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย แต่ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อ เพราะหากมีเชื้อโรคใด ๆ หลุดรอดเข้าไปภายในท่อที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเครื่องกับทางเดินหายใจของผู้ป่วย จะส่งผลให้ได้รับเชื้อโดยตรง นอกจากนี้ เครื่องช่วยหายใจอาจทำให้ปอดของผู้ป่วยเสียหายได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจติดต่อเป็นเวลานาน อาจมีปัญหาเมื่อต้องถอดเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งไม่ได้ช่วยยืดอายุขัยของผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบถาวรเสมอไป เพราะเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออก ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถหายใจได้เอง

เครื่องช่วยหายใจทำงานอย่างไร ?

เครื่องช่วยหายใจประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ ตัวเครื่อง และท่อหายใจ โดยท่อหายใจด้านหนึ่งเชื่อมต่อกับทางเดินหายใจของผู้ป่วย เช่น จมูกหรือปาก ส่วนอีกด้านหนึ่งเชื่อมกับตัวเครื่อง การสอดท่อหายใจ แพทย์จะสอดให้ลึกไปถึงบริเวณหลอดลม และในบางกรณีอาจต้องเจาะคอเพื่อสอดท่อหายใจเข้าไปโดยตรง ซึ่งการสอดท่อหายใจทั้ง 2 ชนิด ต่างส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ เนื่องจากท่อจะถูกสอดผ่านบริเวณเส้นเสียงด้วย

เครื่องช่วยหายใจทำงานโดยสูบฉีดอากาศและออกซิเจนในปริมาณเข้มข้นเข้าไปในปอดผ่านทางท่อหายใจ ซึ่งการสูบฉีดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจออก เพื่อนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย แต่ในบางกรณี อาจช่วยทั้งในเรื่องการหายใจเข้าและหายใจออกได้อย่างสมบูรณ์เช่นกัน ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนในปริมาณเพียงพอและกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้อย่างสมดุล

ลักษณะของผู้ป่วยขณะใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นอย่างไร ?

หากผู้ป่วยยังอยู่ในภาวะรู้สึกตัวขณะใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยยาอาจทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนและลืมตาไม่ขึ้น หากไม่ได้ใช้ยาเพื่อช่วยผ่อนคลาย ผู้ป่วยจะไม่สามารถพูดคุยได้ตามปกติ แต่แสดงท่าทาง ลืมตา หรือสื่อสารด้วยวิธีอื่น ๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้ดูแลควรคอยเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกอึดอัดและรำคาญ จนดึงสายหรือท่อหายใจออก ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วย

ใครดูแลเครื่องช่วยหายใจได้บ้าง ?

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจต้องเข้ารับการรักษาภายในห้องผู้ป่วยวิกฤต (ICU) แต่สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาวหรือตลอดชีวิต อาจต้องมีเครื่องช่วยหายใจไว้ที่บ้าน โดยผู้ดูแลเครื่องช่วยหายใจต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น พยาบาลที่ได้รับการฝึกฝนในด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤตหรือทำงานในห้องผู้ป่วยวิกฤต แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนักมาก แพทย์อาจดูแลเครื่องด้วยตัวเอง เพื่อติดตามระดับการหายใจของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และรับมือกับเหตุการณ์หรือภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น