เครื่องนึ่งขวดนม จำเป็นหรือไม่ เลือกใช้แบบไหนดี

เครื่องนึ่งขวดนมเป็นตัวเลือกที่คุณแม่นิยมนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอุปกรณ์ให้นม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะทารกน้อยนั้นเสี่ยงได้รับอันตรายจากเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย แต่เครื่องนึ่งขวดนมนั้นจำเป็นมากน้อยเพียงใด ควรเลือกซื้อแบบไหนดี แต่ละประเภทมีจุดเด่น จุดด้อย และวิธีใช้อย่างไรบ้าง

Baby Bottle Steriliser

เครื่องนึ่งขวดนมจำเป็นแค่ไหน ?

การฆ่าเชื้อขวดนมและอุปกรณ์สำหรับการให้นมลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจ ไม่ว่าจะให้ลูกกินนมแม่หรือนมผงก็ตาม เพราะช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการท้องเสียและอาเจียนที่พบได้มาก ซึ่งนอกจากการต้มขวดนมหรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อด้วยตนเองแล้ว การใช้เครื่องนึ่งขวดนมก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว

ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีต้มน้ำร้อนหรือเลือกใช้เครื่องนึ่งขวดนมก็ฆ่าเชื้อได้อย่างสะอาดและปลอดภัยเช่นเดียวกัน และไม่ใช่เพียงขวดนม คุณแม่ควรฆ่าเชื้อจุกนม จุกนมหลอก ที่ปั้มนม และอุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามที่ใช้ให้นมจนกว่าทารกจะอายุครบ 1 ขวบ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันที่ช่วยต่อสู้และกำจัดเชื้อโรคของทารกในช่วงนี้ยังพัฒนาไม่เต็มที่และไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ ทารกจึงเสี่ยงติดเชื้อและป่วยได้ง่ายมาก ส่วนภาชนะอย่างอื่น เช่น ถ้วย จาน หรือชามที่ทำความสะอาดได้ง่ายกว่านั้น ควรฆ่าเชื้อก่อนนำมาใส่อาหาร โดยเฉพาะสำหรับทารกในช่วง 6 เดือนแรก

เครื่องนึ่งขวดนมมีกี่ประเภท ? ใช้อย่างไรบ้าง?

เครื่องนึ่งขวดนมมี 2 ประเภทหลักที่นิยมใช้กัน คือ เครื่องนึ่งขวดนมแบบไฟฟ้า และเครื่องนึ่งขวดนมแบบไมโครเวฟ ซึ่งแต่ละชนิดมีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกันไป ดังนี้

เครื่องนึ่งขวดนมแบบไฟฟ้า ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ อาศัยความร้อนจากไอน้ำเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 6-15 นาที แตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ และหากปิดฝาไว้จะสามารถนำมาใช้ได้ภายใน 24 ชั่วโมงโดยยังปราศจากเชื้อ ถือเป็นการฆ่าเชื้อที่สะดวกที่สุด โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ให้นมหลาย ๆ ชิ้นพร้อมกัน

เครื่องนึ่งขวดนมแบบไมโครเวฟ ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยใช้ความร้อนจากไอน้ำเช่นเดียวกับเครื่องนึ่งขวดนมแบบไฟฟ้า แต่บางเครื่องอาจออกแบบมาให้ใช้ควบคู่กับสารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อด้วย ใช้เวลาประมาณ 3-8 นาที ขึ้นอยู่กับวัตต์และหน่วยไฟของแต่ละเครื่อง บางยี่ห้อคงการฆ่าเชื้อได้นานถึง 24 ชั่วโมงหากปิดฝาไว้ แต่ไม่สามารถใช้ฆ่าเชื้อที่อุปกรณ์ประเภทโลหะได้

เครื่องนึ่งขวดนมทั้ง 2 ชนิดจัดเป็นการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อนจากไอน้ำ จึงมีคำแนะนำในการใช้ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ดังนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำในคู่มือการใช้เครื่องที่แนบมาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากเครื่องนึ่งขวดนมแต่ละยี่ห้อมีหลักการใช้แตกต่างกันไป
  • สำหรับการฆ่าเชื้อขวดนมและจุกขวดนม ควรวางโดยคว่ำด้านเปิดลงเสมอ
  • หากไม่ได้ใช้อุปกรณ์ทันทีหลังจากฆ่าเชื้อเสร็จ ให้อ่านคำเตือนในฉลากให้แน่ใจว่าสามารถทิ้งไว้ได้เป็นเวลานานเท่าใด หากเกินเวลาที่กำหนดแล้วต้องฆ่าเชื้ออีกครั้ง

เลือกซื้อเครื่องนึ่งขวดนมอย่างไรดี ?

นอกจากการทำความรู้จักกับเครื่องนึ่งขวดนมแต่ละประเภทแล้ว คุณแม่อาจต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่น ๆ ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้ด้วย โดยเฉพาะความจุของเครื่องนึ่งขวดนมที่มีหลากหลายตั้งแต่ 2-8 ขวด โดยคุณแม่ที่ให้นมผงอย่างเดียวอาจจำเป็นต้องใช้ขวดนมอย่างน้อยถึงวันละ 6 ขวด ส่วนคุณแม่ที่ต้องปั๊มนมอาจเลือกเครื่องนึ่งขวดนมที่ขนาดพอดีกับเครื่องปั๊มนมที่ใช้อยู่ด้วย

นอกจากนี้ เครื่องนึ่งขวดนมบางเครื่องอาจมาพร้อมคุณลักษณะที่อำนวยสะดวกให้คุณแม่ เช่น มีเสียงเตือนเมื่อฆ่าเชื้อเสร็จเรียบร้อย ฆ่าเชื้ออัตโนมัติทุก 2-3 ชั่วโมงหรือหลังจากเปิดฝาเครื่อง หรือแถมอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างขวดนม แก้วสำหรับให้ลูกหัดดื่มน้ำ ถาดใส่อุปกรณ์ และแปรงทำความสะอาดขวดนม

ทางเลือกอื่นในการฆ่าเชื้อขวดนม

ในกรณีที่ไม่ใช้เครื่องนึ่งขวดนมฆ่าเชื้อ คุณแม่มีตัวเลือกในการฆ่าเชื้ออีก 2 วิธี ดังนี้

การฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เป็นยาฆ่าเชื้อชนิดสารละลายหรือชนิดเม็ด นำมาละลายกับน้ำเย็นในภาชนะหรือถังพลาสติก มีข้อแนะนำในการใช้ดังต่อไปนี้

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ
  • หลังจากผสมสารละลายแล้ว ให้นำขวดนมและอุปกรณ์ให้นมต่าง ๆ มาแช่ไว้อย่างน้อย 30 นาที
  • ควรดูให้แน่ใจว่าไม่มีฟองอากาศในขวดนมหรือจุกขวดนมขณะแช่
  • ใช้ฝาปิดเพื่อดันให้ขวดนมและอุปกรณ์ใด ๆ อยู่ในสารละลายตลอดระยะเวลาที่แช่
  • นำสารละลายฆ่าเชื้อดังกล่าวมาใช้ซ้ำกี่ครั้งก็ได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากนั้นไปจะหมดฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ คุณแม่ต้องไม่ลืมเปลี่ยนสารละลายใหม่ภายใน 24 ชั่วโมง
  • หลังจากแช่น้ำยาฆ่าเชื้อแล้ว ต้องนำอุปกรณ์ให้นมมาล้างด้วยน้ำร้อนที่ต้มเสร็จใหม่ ๆ อีกครั้ง

วิธีนี้มีข้อเสีย คือ สารละลายฆ่าเชื้ออาจทิ้งกลิ่นหรือรสชาติที่ไม่พึงประสงค์ต่อทารกได้

การฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อน เป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษอย่างวิธีอื่น ใช้เพียงหม้อหรือกะทะที่ใหญ่พอสำหรับใส่อุปกรณ์ให้นมและต้มน้ำร้อนได้เท่านั้น มีวิธีดังนี้

  • เลือกใช้ภาชนะสำหรับใส่อุปกรณ์ให้นมที่ต้มน้ำร้อนได้ เช่น กะทะ หม้อ เป็นต้น
  • นำอุปกรณ์ให้นมใส่ในภาชนะดังกล่าวแล้วต้มน้ำร้อนอย่างน้อย 10 นาที
  • ดูให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ให้นมแต่ละชิ้นอยู่ใต้น้ำร้อน
  • ตั้งเวลาในการต้มเพื่อไม่ให้ลืมปิดแก๊ส
  • รอให้จุกนมและขวดนมเย็นลงแล้วนำออกมาใช้ทันที
  • ล้างมือให้สะอาดก่อนประกอบขวดนม และเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่จับโดนขวดนมอีกครั้งก่อนใช้ทุกครั้ง
  • หากไม่ต้องการใช้ขวดนมในทันที ให้ประกอบขวดนมและจุกขวดนมเข้าด้วยกันไว้ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อภายในขวดนม

วิธีนี้มีข้อเสีย คือ น้ำร้อนอาจส่งผลให้จุกขวดนมเสียหายหรือแตกเร็วกว่าปกติ ก่อนนำมาใช้คุณแม่ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าจุกนมหรือขวดนมไม่มีรอยรั่วหรือแตกร้าว

สุขอนามัยในการใช้อุปกรณ์ให้นม

การรักษาความสะอาดของอุปกรณ์และสุขอนามัยในการให้นมเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การฆ่าเชื้อ มีหลักปฏิบัติดังนี้

  • ก่อนใช้เครื่องนึ่งขวดนมหรือฆ่าเชื้อด้วยวิธีใดก็ตาม ควรล้างอุปกรณ์ให้นมให้สะอาด
  • ล้างมือด้วยสบู่และเช็ดให้แห้งก่อนหยิบจับอุปกรณ์ให้นมที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วและก่อนการให้นมทุกครั้ง
  • ทำความสะอาดขวดนม จุกขวดนม และอุปกรณ์ให้นมอื่น ๆ ด้วยน้ำสบู่ร้อนทันทีหลังให้นม
  • แยกแปรงไว้สำหรับทำความสะอาดขวดนมและจุกขวดนมโดยเฉพาะ และควรใช้แปรงเล็ก ๆ ที่ทำความสะอาดจุกขวดนมได้ทั่วถึง หรืออาจกลับด้านจุกนมและล้างในน้ำสบู่ร้อน
  • ห้ามใช้เกลือหรือน้ำเกลือทำความสะอาดจุกนม เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
  • หากทำความสะอาดโดยใช้เครื่องล้างจาน ควรดูให้อุปกรณ์ต่าง ๆ คว่ำลง และอาจแยกล้างจุกขวดนมด้วยมือเพื่อให้แน่ใจว่าสะอาดดี