อาการคัดเต้านมเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มักมีอาการปวด บวม รู้สึกเจ็บเต้านมเมื่อเคลื่อนไหวจนบางครั้งอาจรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน แต่ก็มีอยู่หลายวิธีที่อาจช่วยบรรเทาอาการคัดเต้านมได้ ทั้งนี้ คุณแม่บางคนอาจไม่มีอาการดังกล่าวในระหว่างตั้งครรภ์ได้เช่นกัน จึงไม่ต้องเป็นกังวลไป
ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมาในลักษณะที่ต่างจากเดิมเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แลคโตเจน โกแนโดโทรฟิน และโปรแลคติน โดยฮอร์โมนเหล่านี้จะช่วยปรับให้ร่างกายของคุณแม่พร้อมต่อการให้กำเนิดลูกน้อยและกระตุ้นการสร้างน้ำนม จึงอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดบวม ตึง หรือมีก้อนแข็งบริเวณหน้าอก อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บเต้านมระหว่างตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสัญญาณของการอักเสบบริเวณเต้านมที่ควรได้รับการดูแลเพิ่มเติม คุณแม่จึงควรสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเต้านมอยู่เสมอ
วิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมระหว่างตั้งครรภ์
แม้ว่าอาการคัดเต้านมจะหลีกเลี่ยงได้ยากในระหว่างตั้งครรภ์ แต่สามารถรับมือได้ในเบื้องต้นโดยให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณที่เจ็บโดยไม่จำเป็น และทำตามคำแนะนำอื่น ๆ ดังนี้
1. ประคบร้อนหรือประคบเย็น
ฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในระหว่างตั้งครรภ์นั้นส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณเต้านมขยายใหญ่ขึ้นและมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น จึงทำให้เต้านมมีอาการบวมและไวต่อสัมผัส ซึ่งการประคบเย็นอาจช่วยให้หลอดเลือดนั้นหดตัวลงและชะลอการไหลเวียนของเลือดที่มากเกินไปจนทำให้รู้สึกปวด คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นบิดหมาด ผ้าเช็ดตัวผืนเล็กห่อถุงน้ำแข็ง เจลเก็บความเย็นหรือไอซ์แพคมาประคบบริเวณหน้าอกไว้จนอาการดีขึ้นและทำซ้ำอีกเมื่อมีอาการ โดยแต่ละครั้งไม่ควรประคบนานเกิน 20 นาที และควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำแข็งประคบผิวหนังโดยตรง เพราะความเย็นจากน้ำแข็งอาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง
สำหรับคุณแม่ที่ลองประคบเย็นแล้วไม่ได้ผล อาจลองเปลี่ยนมาเป็นวิธีประคบร้อนแทน โดยใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบที่หน้าอกหรืออาบน้ำอุ่นเพื่อให้เลือดและของเหลวภายในเต้านมอย่างเลือดและน้ำนมไหลเวียนได้สะดวกขึ้น อย่างไรก็ตาม การประคบร้อนไม่ควรทำเกิน 20 นาที ส่วนการอาบน้ำหรือแช่น้ำอุ่นไม่ควรนานเกิน 10 นาที และไม่ควรใช้น้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป
2. เปลี่ยนเสื้อชั้นในและเสื้อผ้า
ขนาดหน้าอกที่บวมขึ้นมักมาพร้อมความรู้สึกเจ็บเมื่อสัมผัสโดน การสวมเสื้อชั้นในที่หลวม คับ หรือไม่กระชับอาจทำให้รู้สึกเจ็บและตึงบริเวณเต้านมขณะเคลื่อนไหว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรเลือกสวมเสื้อชั้นในให้เหมาะสมกับลักษณะของหน้าอกในช่วงนั้น โดยให้เลือกเสื้อชั้นในที่โอบอุ้มเต้านม มีความกระชับเมื่อสวมใส่ ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป สายเสื้อชั้นในสามารถปรับได้ เพราะหน้าอกอาจขยายหรือลดขนาดลงเมื่อเวลาผ่านไป
การเลือกซื้อเสื้อชั้นในให้เหมาะสมอาจเป็นประโยชน์กับคุณแม่ตั้งแต่เริ่มตั้งการครรภ์ไปจนถึงช่วงให้นมลูกน้อย เพราะอาการคัดเต้านมอาจยาวนานไปจนถึงช่วงหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ประสบปัญหาเจ็บเต้านมขณะนอนอาจลองสวมสปอร์ตบรา (Sport Bra) ในระหว่างนอนแทน เพราะอาจช่วยบรรเทาอาการคัดเต้านมและช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น ส่วนข้อห้ามในการเลือกซื้อเสื้อชั้นใน คือ ควรหลีกเลี่ยงเสื้อชั้นในแบบมีโครงลวดด้านล่าง เพราะอาจทำให้เกิดการรั้งและทำให้เจ็บได้
นอกจากการเปลี่ยนเสื้อชั้นในแล้ว การเพิ่มขนาดหรือไซส์เสื้อผ้านั้นก็อาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน เพราะร่างกาย หน้าท้อง และหน้าอกในช่วงตั้งครรภ์นั้นมีการขยายตัว จึงอาจทำให้เสื้อผ้าที่เคยสวมใส่นั้นเริ่มคับ หากเสื้อผ้าที่สวมใส่คับมากเกินไปก็อาจบีบรัดหน้าอกของคุณแม่จนทำให้รู้สึกเจ็บและอึดอัดอยู่ตลอดเวลา จึงควรเปลี่ยนมาสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ดี เพื่อลดอาการเจ็บเต้านมและยังอาจช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวมากขึ้นด้วย
3. ใช้ยาแก้ปวดที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่าย
หากวิธีด้านบนไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีบรรเทาอาการคัดเต้านมอื่น ๆ กรณีที่ต้องการใช้ยาแก้ปวดหรือยาชนิดอื่น ควรใช้ยาที่แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น เพราะยาบางชนิดอาจส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง นอกจากนี้ การเลือกซื้อยาจากเภสัชกรตามร้านขายยาก็อาจมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน หลังจากได้รับยา คุณแม่ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดของยา
โดยปกติแล้วอาการคัดเต้านมและอาการอื่น ๆ อาจบรรเทาลงภายใน 2-5 วัน หลังจากคลอดทารก แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น รุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการอย่างละเอียด
จากข้างต้นที่กล่าวถึงว่าอาการคัดเต้านมระหว่างตั้งครรภ์อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม แต่โอกาสความเป็นไปได้นั้นมีค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในผู้ที่อายุไม่เกิน 35 ปี ซึ่งแพทย์อาจนัดคุณแม่มาตรวจทุก ๆ 4-5 สัปดาห์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของหน้าอก สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์หลังอายุ 35 ปี ความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมอาจเพิ่มขึ้นตามอายุ เพื่อความปลอดภัยและความสบายใจหลังจากผ่านช่วงอายุดังกล่าว ผู้หญิงทุกคนควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปีไม่ว่าจะตั้งท้องหรือไม่ก็ตาม