เคล็ดลับรักษานิ้วล็อคอย่างถูกวิธี

นิ้วล็อคนั้นเป็นปัญหากวนใจคนทำงานหรือผู้ที่ใช้มือทำกิจกรรมอย่างหนักหรือทำซ้ำ ๆ เพราะส่งผลให้เกิดอาการปวด ตึง หรือยืดนิ้วให้ตรงเหมือนเดิมไม่ได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้กิจกรรมทุกอย่างดำเนินไปด้วยความยากลำบาก แต่หากหมั่นสังเกตอาการตนเองและรับการรักษาหรือการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยให้เราจัดการกับปัญหานี้ได้ไวยิ่งขึ้น  

โดยปกติ นิ้วล็อคเป็นการอักเสบและหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือหลายนิ้วพร้อมกันจนไม่สามารถยืดหรืองอนิ้วได้ ซึ่งเป็นผลมาจากโรคบางชนิด อย่างโรคเบาหวาน ภาวะขาดไทรอยด์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ วัณโรค หรือเกิดจากการใช้มือทำงานและทำกิจกรรมซ้ำ ๆ ผู้ป่วยมักมีอาการแย่ลงในช่วงเช้าโดยเฉพาะหากหยิบจับสิ่งของแน่น ๆ หรือพยายามยืดนิ้วมือให้ตรง แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้นในระหว่างวัน แต่หากนิ้วมือแข็งตึง ชาหรือเจ็บที่ข้อต่อนิ้ว ไม่สามารถยืดหรืองอนิ้วได้ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุโดยเร็ว

Finger.hand,Trigger,Finger,Lock,Concept,Healthy,White,Background

เคล็ดลับรักษานิ้วล็อค

ปกติแล้ว การรักษานิ้วล็อคจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดอาการ หากอาการไม่ซับซ้อนและเกิดขึ้นเพียงไม่นานมักไม่ต้องพึ่งพาการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยสามารถบรรเทาอาการนิ้วล็อคภายใต้คำแนะนำหรือการดูแลของแพทย์ได้ ดังนี้ 

1. พักการใช้งานของมือ

ผู้ป่วยควรพักมือสักระยะ โดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือหยิบจับในท่าเดิมซ้ำ ๆ การแบกของที่มีน้ำหนักมาก หรือการใช้เครื่องมือที่ต้องยึดจับให้แน่นอย่างสว่านไฟฟ้า อย่างน้อย 6 สัปดาห์จนกว่าอาการจะดีขึ้น หากเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันมือและนิ้วมือด้วยการสวมถุงมือที่บุนวมหนาก่อนเสมอ  

2. ใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดามนิ้วข้างที่ล็อคในตอนกลางคืนติดต่อกันนานประมาณ 6-10 สัปดาห์ โดยใช้อุปกรณ์ดามนิ้ว (Splint) ซึ่งจะช่วยพักมือหรือเส้นเอ็น จำกัดการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ และลดการงอของนิ้วมือด้วย แต่อาจไม่ค่อยได้ผลในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือใช้วิธีนี้ในระยะยาว

3. ออกกำลังกายบริหารมืออย่างพอดี

โดยทั่วไป ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อบริเวณนิ้วมือและมือในระดับเบาได้ เพราะจะช่วยลดอาการแข็งตึงของนิ้ว และทำให้นิ้วเคลื่อนที่ได้ดังเดิม

4. รับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้เอง

ยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) หรือยาพาราเซตามอลเป็นตัวยาที่ผู้ป่วยใช้บรรเทาอาการนิ้วล็อคได้ โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทาน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้

5. ฉีดยาสเตียรอยด์โดยแพทย์

แม้ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมาเป็นนิ้วล็อคซ้ำได้ แต่การฉีดยาสเตียรอยด์นั้นเป็นวิธีรักษานิ้วล็อคที่มักได้ผลดี  โดยแพทย์จะฉีดยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าสู่ปลอกหุ้มเอ็นบริเวณนิ้วมือ เพื่อลดการอักเสบและช่วยให้เอ็นนิ้วเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ หากผ่านไปหลายสัปดาห์แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องฉีดเข็มที่ 2 เพิ่มเติม แต่ตัวยาอาจทำให้เนื้อเยื่อฝ่อตัว ผิวหนังเปลี่ยนสี เกิดภาวะไฮเปอร์พิกเมนเทชั่น (Hypopigmentation) หรือการติดเชื้อได้ และในผู้ป่วยรคเบาหวานหรือผู้ป่วยที่ฉีดยาสเตียรอยด์ในระยะยาวก็อาจไม่ค่อยได้ผล     

ทั้งนี้ หากอาการนิ้วล็อคทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือการดูแลรักษาดังข้างต้นใช้ไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยเข้ารับการผ่าตัดด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม การรักษาและป้องกันนิ้วล็อคที่ดีที่สุดคือ การเริ่มต้นที่ตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือโดยหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม การหยิบจับสิ่งของที่ต้องใช้มือหรือนิ้วมือในท่าทางเดิมซ้ำ ๆ ในกรณีที่ปัญหาสุขภาพบางประการหรือโรคประจำตัวส่งผลให้เกิดนิ้วล็อคก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาโรคต้นเหตุตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงขอคำแนะนำในการดูแลนิ้วมืออย่างถูกวิธี และหากเกิดการอักเสบอย่างอาการบวมแดงหรือรู้สึกอุ่นบริเวณข้อต่อนิ้วมือควรไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือข้ออักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ