เคล็ดลับเพิ่มสมาธิ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น

การใช้ชีวิตประจำวันในปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งที่ดึงดูดความสนใจมากมาย จนอาจทำให้คนเสียสมาธิและวอกแวกได้ง่าย อย่างป้ายโฆษณาข้างทาง เสียงวิทยุในรถยนต์ การแจ้งเตือนจากโทรศัพท์มือถือ หรือวีดีโอรายการโปรดบนอินเตอร์เน็ต หากกิจกรรมที่ทำอยู่นั้นต้องใช้สมาธิสูง เช่น ขับรถ ฟังบรรยายในชั้นเรียน หรือคุยงานกับลูกค้า เป็นต้น การเสียสมาธิเพียงครู่เดียวก็อาจทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ดังนั้น สมาธิจึงเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิต ซึ่งเทคนิคบางอย่างอาจช่วยเพิ่มสมาธิ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดียิ่งขึ้นได้

1934 สมาธิ rs

รู้เท่าทันปัญหาสำคัญที่อาจรบกวนสมาธิ

หากต้องการจะเพิ่มสมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้มากขึ้น ควรรู้ให้ได้ก่อนว่าอะไรที่คอยรบกวนจิตใจหรือคอยทำให้ไขว้เขวจนไม่มีสมาธิ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้อาจรบกวนจิตใจและกระทบต่องานที่ทำอยู่ จนทำให้ผลออกมาไม่ดีเท่าที่ควร เช่น การเบื่อหน่ายกับการทำงานเดิม ๆ ความอ่อนเพลีย การติดมือถือ การคิดมากหรือความกังวลใจ การทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

เทคนิคช่วยเพิ่มสมาธิ มีอะไรบ้าง ?

ในระหว่างนั่งเรียนหรือทำงาน บางครั้งคุณอาจรู้สึกว่าไม่เข้าใจสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าเลย หรือใจลอยนึกไปถึงเรื่องต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งอาการในลักษณะนี้บอกได้ถึงการขาดสมาธิ และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตได้อย่างไม่รู้ตัว

ดังนั้น ควรหาทางป้องกันสิ่งต่าง ๆ มารบกวนสมาธิ และเรียนรู้วิธีสร้างสมาธิให้มุ่งมั่นกับเป้าหมายที่ทำมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น ดังนี้

  • จดจ่อกับสิ่งที่ทำ เริ่มจากการมีสมาธิกับสิ่งที่ต้องทำตรงหน้า เพราะหากไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ อาจทำให้หลงลืมรายละเอียดหรือประเด็นสำคัญของเรื่องนั้นไป และพยายามอย่าทำกิจกรรมหลายอย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้ผลงานออกมาไม่ดีเท่าที่ควร
  • ใช้ประสาทสัมผัสหลายด้านร่วมกัน เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มสมาธิและประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น เช่น หากนั่งฟังการประชุมก็ควรใช้วิธีจดบันทึกร่วมด้วย เพื่อให้ไม่พลาดประเด็นสำคัญไป หรือขณะขับรถก็ควรใช้ตาดูเส้นทางและใช้หูคอยฟังเสียงสัญญาณจากรถคันอื่น ๆ ด้วย เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน ในระหว่างที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ หากไม่จำเป็น อย่าเปิดทีวี ฟังเพลง หรือหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาดู เพราะอาจทำให้เสียสมาธิ ทั้งนี้ มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่ได้รับข้อความหรือการแจ้งเตือนต่าง ๆ จากโทรศัพท์มือถือในระหว่างทำงาน มีความเสี่ยงที่จะทำงานผิดพลาดมากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือนดังกล่าว
  • พักเบรคระหว่างทำงาน เพราะสมองของคนเราจะกระตือรือร้นในช่วงแรกของการทำงาน แต่หลังจากผ่านไปสักระยะหนึ่งจะเริ่มเฉยชาและให้ความสนใจกับสิ่งนั้นน้อยลง จึงควรหยุดพักระหว่างที่ทำงาน เพื่อให้สมองได้พักและกลับมามีความสนใจกับงานอีกครั้ง
  • ฝึกทำสมาธิ การทำสมาธิมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งทำให้มีสติกับงานที่ทำมากขึ้น เสริมสร้างบุคลิกภาพ ควบคุมอารมณ์ อีกทั้งยังมีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิจะทำให้สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์มีขนาดใหญ่ขึ้นอีกด้วย
  • ฝึกสมอง ด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยบริหารสมองอย่างอ่านหนังสือ เรียนรู้ภาษาอื่นเพิ่มเติม หรือเล่นเกม ซึ่งการทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อของเซลล์สมองมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคที่เกี่ยวกับความจำอย่างโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย
  • รักษาสุขภาพ การรักษาสุขภาพทำได้ง่าย ๆ โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้พอดี และออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงห่างไกลจากโรคร้ายแล้ว ยังส่งผลดีต่อสมองโดยเพิ่มปริมาณสารแห่งความสุขเอ็นดอร์ฟิน ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า โรคหลอดเลือดสมอง โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบาหวานด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างที่ทราบกันดีว่าการนอนหลับอย่างเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการนั้นมีส่วนช่วยพัฒนาทั้งทางร่างกายและสมอง โดยหากพักผ่อนน้อยเกินไป อาจมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ทั้งด้านอารมณ์ ความคิด ความจำ การมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคบางชนิดอีกด้วย
  • เลือกรับประทานอาหาร อาหารบางชนิดมีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังมีส่วนช่วยในการทำงานของสมองด้านความคิด ความจำ และอารมณ์ด้วย เช่น เนื้อปลา ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ถั่ว ผักที่มีใยอาหารสูง และผลไม้ เป็นต้น โดยการรับประทานอาหารเช้ามีส่วนสำคัญที่ช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน คาเฟอีนเป็นส่วนประกอบในเครื่องดื่มหลายชนิด ทั้งกาแฟ โคล่า หรือเครื่องดื่มชูกำลังต่าง ๆ แม้ช่วยให้มีสมาธิจดจ่อ แต่ก็ไม่ควรบริโภคมากเกินไป โดยควรดื่มกาแฟไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน หรือประมาณ 4 แก้ว เพราะหากได้รับคาเฟอีนมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว หรือท้องเสีย เป็นต้น
  • รับประทานอาหารเสริม ในปัจจุบันเชื่อกันว่าอาหารเสริมบางชนิดอาจมีส่วนช่วยในการทำงานของสมอง เช่น น้ำมันปลา ใบแปะก๊วย เรสเวอราทรอล ครีเอทีน ฟอสฟาติดิลเซอรีน แอลคาร์นิทีน พรมมิ หรือโรดิเอลา เป็นต้น แต่ก็ยังต้องรอผลการวิจัยเพิ่มเติมให้ชัดเจนก่อน จึงจะสามารถยืนยันประสิทธิภาพในด้านนี้ได้ อีกทั้งอาหารเสริมบางชนิดยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพของผู้ใช้ด้วย ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ถี่ถ้วนก่อนรับประทานอาหารเสริมทุกชนิด
  • ใช้ยาบางชนิด เพราะยาบางอย่างอาจนำมาปรับใช้กับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดสมาธิได้เช่นกัน แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะคนทั่วไปอาจไม่สามารถหาซื้อยาบางชนิดมาใช้เองได้ ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายยาเท่านั้น และยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์และผู้ใช้ยาต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

แม้การขาดสมาธิเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ก็ต้องคอยหมั่นสังเกตอาการของตนเองอยู่เสมอว่าขาดสมาธิบ่อยเกินไปหรือไม่ หรือมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ประมาท ใจร้อน ขี้ลืม ทำงานผิดพลาดบ่อย เริ่มทำงานใหม่โดยที่งานเก่ายังไม่เสร็จ เป็นต้น หากไม่มีแนวโน้มว่าอาการเหล่านั้นจะดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเช่นเดียวกัน