เควอซิทิน (Quercetin) เป็นสารที่ให้สีในผักและผลไม้ ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไบโอฟลาโวนอยด์ (Bioflavonoid) มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายจากความเสียหายของอนุมูลอิสระ จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากการอักเสบในร่างกาย
เควอซิทินพบมากที่ใบและผิวของพืชหลายชนิด เช่น แอปเปิ้ล ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ หัวหอม ใบชา แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) และเซนต์จอห์นเวิร์ต (St John's Wort) รวมทั้งพบในรูปสารสกัดในอาหารเสริม ในบทความนี้ได้รวบรวมประโยชน์และข้อควรรู้ในการรับประทานเควอซิทินให้ปลอดภัยต่อสุขภาพมาฝากกัน
เควอซิทินมีประโยชน์อย่างไร
ประโยชน์หลักของเควอซิทินคือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอนุมูลอิสระ (Free Radical) เป็นอะตอมหรือโมเลกุลที่ไม่เสถียร ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเผาผลาญอาหารที่เรารับประทานให้เปลี่ยนเป็นพลังงาน และอาจเกิดจากปัจจัยอื่น เช่น การสูบบุหรี่ มลภาวะ และรังสียูวี (UV)
อนุมูลอิสระจะทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อในร่างกายเกิดความเสียหาย งานวิจัยบางส่วนระบุว่าการบริโภคเควอซิทินอาจช่วยต้านการอักเสบ บรรเทาอาการ และอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ เช่น
- ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษาในกลุ่มผู้หญิงที่เป็นโรครูมาตอยด์ 50 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารเสริมเควอซิทินวันละ 500 มิลลิกรัมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน มีอาการปวดข้อและข้อต่อติดแข็งในตอนเช้าน้อยลง และช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดหลังจากทำกิจกรรมที่ใช้ข้อต่อ
- โรคภูมิแพ้ งานวิจัยในสัตว์และหลอดทดลองพบว่าเควอซิทินอาจช่วยยับยั้งเอนไซม์และสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น สารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อสัมผัสสารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ได้
- มะเร็งบางชนิด ผลการวิจัยในสัตว์และหลอดทดลองพบว่าเควอซิทินที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระอาจช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง และกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากตาย และคาดว่าอาจให้ประสิทธิภาพเช่นเดียวกันกับมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
- ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง ช่วยให้หลอดเลือดคลายตัวและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ผลการทดลองในหนูทดลองและคนพบว่ากลุ่มที่ได้รับเควอซิทินทุกวันมีระดับความดันโลหิตลดลง จึงอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจได้
- สมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Disease) โดยผลการทดลองในหนูพบว่าการให้อาหารที่มีเควอซิทินอาจช่วยป้องกันหรือชะลออาการอัลไซเมอร์ได้ และงานวิจัยอีกชิ้นพบว่าสารเควอซิทินในกาแฟอาจช่วยป้องกันการเกิดโรคทางสมองได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ผลการวิจัยบางชิ้นระบุว่าเควอซิทินอาจมีคุณสมบัติอื่นอีกด้วย เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ชะลอความแก่ของผิวหนัง รวมทั้งช่วยลดการอักเสบของกล้ามเนื้อและเพิ่มสมรรถภาพของนักกีฬา
อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องเควอซิทินในปัจจุบันมีจำนวนไม่มาก โดยส่วนมากเป็นการทดลองในสัตว์และหลอดทดลอง หรือทดลองในกลุ่มตัวอย่างกลุ่มเล็ก ๆ จึงยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดเกี่ยวกับประโยชน์ของเควอซิทินที่มีต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ ได้ และยังต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต
บริโภคเควอซิทินอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
เควอซิทินพบในเปลือก ผิวด้านนอก และใบของผักผลไม้ และพืชสมุนไพรหลายชนิด เช่น พริกหวานสีเหลืองและเขียว หอมใหญ่ หอมแดง หน่อไม้ฝรั่ง บร็อคโคลี่ เคล มะเขือเทศ เชอร์รี่ แอปเปิ้ลแดง องุ่นแดง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ชาเขียว และชาดำ
ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณเควอซิทินที่ควรได้รับต่อวันเอาไว้ การรับประทานอาหารที่มีเควอซิทินเหล่านี้อย่างเหมาะสมควบคู่กับอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ในแต่ละวันจึงมักไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายโดยไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม ยกเว้นกรณีที่แพทย์สั่ง
ผู้รับประทานอาหารเสริมเควอซิทินควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ ซึ่งปริมาณที่แนะนำให้ใช้สูงสุดมักไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และใช้ต่อเนื่องไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยในอาหารเสริมเควอซิทินมักผสมกับวิตามินอื่น เช่น วิตามินซี เพื่ออาจทำให้ร่างกายดูดซึมเควอซิทินได้ดีขึ้น
ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการรับประทานเควอซิทิน เช่น ปวดหรือไม่สบายท้อง ปวดศีรษะ และแขนขาชา หากใช้ปริมาณมากกว่าที่กำหนดอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อไตได้ นอกจากนี้ กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวหรือปัจจัยด้านสุขภาพเหล่านี้ไม่ควรรับประทานอาหารเสริมเควอซิทิน
- ผู้ที่เป็นโรคไต เนื่องจากการได้รับเควอซิทินอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- ผู้ที่ตั้งครรภ์ กำลังให้นมบุตร และเด็ก
- ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาควบคุมความดันโลหิต ยารักษาเบาหวาน ยาวาฟาริน (Warfarin) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และยามิดาโซแลม (Midazolam) เพราะเควอซิทินอาจทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาเหล่านี้และส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา
เควอซิทินเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจช่วยต้านการอักเสบและป้องกันความเสื่อมของเซลล์ที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับเควอซิทินอาจยังไม่เพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันหรือรักษาโรค การใช้เควอซิทินจึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ