การเจาะคอเป็นหัตถการรูปแบบหนึ่ง โดยแพทย์จะใส่ท่อหลอดลมคอผ่านผิวหนังที่ลำคอ เพื่อสร้างทางติดต่อระหว่างหลอดลมกับผิวหนังด้านหน้าของลำคอ ทำให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพสามารถหายใจและนำอากาศเข้าสู่ปอดได้โดยไม่ต้องผ่านทางจมูก ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลาปรับตัว ฝึกพูด ฝึกหายใจ และฝึกรับประทานอาหารใหม่หลังเจาะคอด้วย
ทำไมต้องเจาะคอ ?
ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเจาะคอด้วยเหตุผลบางประการ เช่น ช่วยบรรเทาการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ลดผลข้างเคียงจากการใส่ท่อช่วยหายใจเป็นเวลานาน สะดวกต่อการดูดเสมหะในหลอดลม และช่วยปกป้องทางเดินหายใจส่วนล่าง เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาเจาะคอผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มบุคคล ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาหารหรือวัตถุขนาดใหญ่อุดตันทางเดินหายใจ
- ผู้ที่ไม่สามารถหายใจได้ด้วยตนเอง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน
- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบริเวณคอซึ่งไปกดทางเดินหายใจ เช่น มะเร็งกล่องเสียง เป็นต้น
- ผู้ที่มีกล้ามเนื้อส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เส้นเสียง หรือกระบังลมเป็นอัมพาต
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณช่องปาก คอ หรือผนังทรวงอกอย่างรุนแรง
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณรอบกล่องเสียง คอ รวมถึงกะโหลกศีรษะ
- ผู้ที่สูดดมเขม่าควันหรือสารพิษที่ทำให้ทางเดินหายใจบวมและอุดตัน
- ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูดเสมหะในท่อลมและหลอดลมบ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีสติ มีการติดเชื้อในปอด หรือมีเสมหะคั่งมาก ๆ ซึ่งไม่สามารถไอออกมาได้ดี
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคท่อลมตีบ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดรุนแรง การติดเชื้อในปอด หรือมีเสมหะมากและไม่สามารถไอออกมาได้ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีอาการโคม่า ไม่มีสติ หรือเป็นอัมพาต
ขั้นตอนการเจาะคอ
การเจาะคอทำได้โดยการฉีดยาชาหรือให้ผู้ป่วยดมยาสลบก่อน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะของผู้ป่วยด้วย สำหรับรายที่ต้องดมยาสลบในห้องผ่าตัด ควรให้ผู้ป่วยงดน้ำและอาหารก่อนเจาะคออย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการสำลักอาหารลงปอด ส่วนผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาทางเดินหายใจอุดกั้นฉุกเฉินซึ่งมีข้อจำกัดในการใส่ท่อช่วยหายใจ อาจจำเป็นต้องเจาะคอโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยมีวิสัญญีแพทย์ร่วมดูแลผู้ป่วยในขณะเจาะคอด้วยทุกครั้ง
ในขั้นตอนการเจาะคอ แพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณใต้ลูกกระเดือกผ่านเข้าไปยังกระดูกอ่อนที่ผนังด้านนอกของหลอดลม เพื่อเปิดช่องให้มีขนาดใหญ่เพียงพอให้สามารถใส่ท่อหลอดลมคอลงไปได้ โดยมีสายคล้องคอแนบอยู่กับแผ่นปิดด้านนอกเพื่อทำให้ท่อหลอดลมคอไม่เคลื่อนที่ไปมา ซึ่งอาจต่อเครื่องช่วยหายใจผ่านท่อหลอดลมคอในผู้ป่วยบางรายสำหรับกรณีที่จำเป็น
การดูแลตนเองหลังเจาะคอ
หลังการผ่าตัดเจาะคอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน ในช่วงแรกอาจรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวลที่ไม่สามารถหายใจหรือพูดได้ตามปกติ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการฝึกรับมือและดูแลตนเองหลังการเจาะคอจากแพทย์และพยาบาล โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้
การพูด หากพูดตามปกติ อากาศจะเคลื่อนผ่านเส้นเสียงด้านหลังลำคอ แต่หลังจากเจาะคอแล้ว อากาศจะผ่านทางท่อหลอดลมคอทำให้การเปล่งเสียงไม่เป็นไปอย่างที่เคย ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้วาล์วเปิดปิดที่ปลายท่อหลอดลมคอเพื่อกันลมออก และช่วยให้ผู้ที่เจาะคอสามารถพูดหรือเปล่งเสียงออกมาได้
การรับประทานอาหาร ในช่วงแรกหลังการผ่าตัด ผู้ที่เจาะคออาจมีปัญหาในการกลืน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะสามาถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยอาจเริ่มจากการจิบน้ำทีละน้อย จากนั้นจึงค่อยเริ่มรับประทานอาหารอ่อนหรืออาหารที่เคยรับประทานตามปกติ
การทำกิจกรรมต่าง ๆ ผู้ที่เจาะคอสามารถทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ในช่วง 6 สัปดาห์แรกหลังการเจาะคออาจต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก และจำเป็นต้องดูแลแผลจากการเจาะคอให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งผู้ที่เจาะคออาจสวมใส่เสื้อผ้าหรือผ้าพันคอที่ช่วยปกปิดลำคอ เพื่อป้องกันน้ำ ฝุ่น หรือสิ่งสกปรกเข้าไปในท่อหลอดลมคอ
การทำความสะอาดบริเวณที่เจาะคอ ผู้ที่เจาะคอจำเป็นต้องทำความสะอาดสายดูดเสมหะและท่อหลอดลมคอเป็นประจำ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการฝึกฝนวิธีทำความสะอาดจากทางโรงพยาบาลจนสามารถทำได้อย่างถูกต้องก่อนกลับมาทำเองที่บ้าน เพื่อลดการสะสมของเสมหะและลดความเสี่ยงการติดเชื้อ
โดยการทำความสะอาดอุปกรณ์บริเวณที่เจาะคอ มีดังนี้
- การทำความสะอาดสายดูดเสมหะ ควรล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน โดยใช้สายดูดเสมหะดูดไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์จนกว่าเสมหะจะหลุดออกจากท่อด้านใน จากนั้นนำสายดูดเสมหะดูดน้ำเกลือล้างแผลล้างจนกว่าจะปราศจากไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ แล้วทำให้สายแห้งและใช้ผ้าขนหนูห่อไว้
- การทำความสะอาดท่อหลอดลมคอชั้นใน ล้างมือให้สะอาดก่อนแล้วนำท่อหลอดลมคอชั้นในแช่ลงในภาชนะที่เตรียมสารสะลายเพอร์ออกไซด์เอาไว้ ขัดท่อให้สะอาดจนกว่าเสมหะจะหลุดออกหมด จากนั้นนำไปล้างด้วยน้ำเกลือล้างแผลจนกว่ากลิ่นของสารสะลายเพอร์ออกไซด์จะหมดไป แล้วเช็ดท่อให้แห้งและประกอบกลับสู่ที่เดิม
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการเจาะคอ
การเจาะคอเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้ แม้ปกติแล้วจะมีความปลอดภัย แต่บางรายอาจมีอาการแพ้ยาสลบที่ใช้จนทำให้หายใจลำบาก เกิดผื่นคันและบวม รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้
ส่วนการเจาะคอในภาวะฉุกเฉินอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนี้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน
- เลือดออก หรือหลอดลมได้รับความเสียหาย
- อากาศติดอยู่ในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังบริเวณลำคอจนส่งผลให้หายใจลำบาก และสร้างความเสียหายต่อหลอดอาหารหรือหลอดลม
- อากาศติดอยู่ระหว่างผนังทรวงอกและปอด จนส่งผลให้มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือปอดแฟบ
- มีเลือดคั่งบริเวณลำคอที่อาจไปกดหรือบีบหลอดลมจนทำให้หายใจลำบาก
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
- หลอดลมแคบลง เนื่องจากมีเนื้อเยื่อที่ผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณหลอดลม
- ท่อหลอดลมคออุดตัน
- เกิดการติดเชื้อ
- มีการสะสมของแบคทีเรียที่อาจส่งผลให้เกิดโรคปอดบวมตามมา
- มีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร ซึ่งอาจทำให้น้ำและอาหารหลุดเข้าไปในปอด
- มีช่องว่างเกิดขึ้นระหว่างหลอดเลือดแดงอินโนมิเนตและหลอดลม ซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ หากผู้ที่เจาะคอพบว่ามีอาการปวด แดง บวม หรือมีเลือดออกในบริเวณที่เจาะคอ หายใจผ่านท่อหลอดลมคอลำบาก ท่อหลอดลมคอเคลื่อนหรือผิดตำแหน่ง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที