การเจาะจมูกเป็นเทรนด์แฟชั่นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน หลายคนชื่นชอบเพราะเป็นความสวยงามที่มีลักษณะเฉพาะตัวและช่วยเพิ่มความโดดเด่นบนกับใบหน้า นอกเหนือจากการเจาะจมูกและเลือกใส่อุปกรณ์แล้ว เราควรเรียนรู้วิธีการดูแลความสะอาดอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดตามมาได้
สำหรับผู้ที่กำลังหาข้อมูลก่อนการไปเจาะจมูก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกร้าน ชนิดของอุปกรณ์ การดูแลหลังการเจาะที่ถูกต้อง หรือความปลอดภัย ในบทความนี้อาจช่วยตอบคำถามที่หลายคนสงสัยเกี่ยวกับการเจาะจมูก และอาจช่วยให้การเจาะจมูกครั้งนี้ดูมีสไตล์และปลอดภัยมากขึ้น
การเจาะจมูกมีวิธีการเตรียมตัวและดูแลแผลอย่างไร ?
การเจาะจมูกเป็นการเจาะที่ใช้เวลาไม่นาน แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมก่อนการเจาะจมูก รวมไปถึงการดูแลหลังจากเจาะจมูกอย่างเหมาะสม ดังนี้
การเตรียมตัว
ก่อนการเจาะจมูกควรเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
- ควรมั่นใจว่าตนเองไม่ได้กำลังตั้งครรภ์หรือมีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อ อย่างเชื้อเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าการเจาะจมูกจะปลอดภัยทั้งกับตนเองและคนอื่น
- เลือกตำแหน่งที่จะเจาะจมูก โดยทั่วไปบริเวณที่สามารถเจาะจมูกได้จะมีอยู่ด้วยกัน 3 ตำแหน่ง คือ บริเวณกระดูกอ่อนระหว่างโพรงจมูกทั้งสองข้าง เนื้อส่วนปลายระหว่างโพรงจมูกทั้งสองข้าง และบริเวณปีกจมูก
- เลือกอุปกรณ์หรือห่วงที่จะใส่หลังการเจาะหู โดยให้วัสดุที่เป็นเกรดเดียวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์และมีคุณภาพเทียบเท่า เพื่อลดการระคายเคืองและความเสี่ยงที่ชิ้นส่วนจะหลุดเข้าไปในร่างกาย เช่น สแตนเลส ไนโอเบียม หรือไทเทเทียม แต่หากเป็นทองคำควรเลือกแบบ 14K และ 18K ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานกับผิวหนัง
- เลือกร้านเจาะจมูกที่น่าเชื่อถือ พนักงานผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์ มีเครื่องมือที่สะอาดได้มาตรฐาน และสำคัญ คือ การใช้เข็มเจาะสเตอริไรส์แบบใช้แล้วทิ้ง หรือใช้เข็มที่ผ่านการฆ่าเชื้อจากเครื่องอบฆ่าเชื้อโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรเจาะจมูกด้วยตนเองหรือให้บุคคลที่ไม่ผ่านการอบรมเจาะจมูกโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
การดูแลหลังจากการเจาะจมูก
แผลจากการเจาะจมูกใหม่ ๆ อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์ไปจนถึง 2-3 เดือน แผลจึงจะหายสนิท โดยในช่วงแรกหลังการเจาะจมูกอาจมีความเสี่ยงที่เกิดการติดเชื้อได้ง่าย จึงควรรักษาความสะอาดเป็นพิเศษและปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
- ล้างมือก่อนจับบริเวณจมูก แผล หรืออุปกรณ์สวมใส่เสมอ
- ล้างแผลบริเวณจมูกด้วยน้ำเกลืออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน
- หมั่นทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สวมใส่ด้วยน้ำเกลือหรือสบู่อยู่เสมอ หากเป็นเหล็กควรใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันสนิม
- หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนอุปกรณ์ เพราะอาจทำให้แผลหายช้าหรือขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจมีเลือดออกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่ม สำหรับบางรายที่ใช้อุปกรณ์ที่เล็กเกินไปก็อาจทำให้แผลหายจนปิดสนิทและอาจต้องเจาะใหม่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระแทกบริเวณจมูก
- งดว่ายน้ำทั้งในสระ ทะเล แม่น้ำ หรือแหล่งน้ำธรรมชาติอื่น ๆ เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้
- หมั่นทำความสะอาดผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนเสมอ
- ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทาโดยตรงไปบริเวณแผล เพราะอาจทำให้ระคายเคือง
การดูแลหลังจากแผลหายสนิท
แม้ว่าแผลจะหายแล้วก็ยังควรหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ และดูแลด้วยวิธีอื่น ๆ ได้แก่ สวมอุปกรณ์ไว้เสมอเพื่อป้องกันรอยเจาะตัน ทำความสะอาดจมูกและอุปกรณ์ทุกครั้งที่เปลี่ยนอุปกรณ์สวมใส่ รวมทั้งตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ที่สวมใส่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่มีคราบสกปรกหรือรูปทรงที่เปลี่ยนไป
เจาะจมูกเสี่ยงอะไรบ้าง ?
ในการเจาะจมูกอาจทำให้รู้สึกเจ็บและมีเลือดออกได้ แต่เป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในช่วง 2-3 วันแรกหลังการเจาะอาจมีอาการปวดร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เจาะ นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น
- แผลเกิดการฉีกขาดจากอุบัติเหตุ
- อาการแพ้ที่เกิดจากอุปกรณ์ โดยเฉพาะที่ทำมาจากนิกเกิล
- รอยแผลเป็นและคีลอยด์
- มีปัญหาในการหายใจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในโพรงจมูก
- สำลัก ติดคอ เนื่องจากอุปกรณ์หลุดเข้าไปในหลอดลม
- เกิดการติดเชื้อ อย่างเชื้อเอชไอวี วัณโรค หรือไวรัสตับอักเสบชนิดต่าง ๆ ซึ่งอาจเกิดจากการใช้เข็มเจาะซ้ำ หรือการดูแลรักษาที่ไม่เหมาะสม
- จมูกเปลี่ยนรูปทรง อาจเป็นผลมาจากการติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
หากพบสัญญาณของการติดเชื้อ อย่างเช่น เป็นไข้ ผิวหนังบวมแดง ปวดรอบแผล หรือมีหนอง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
สำหรับคนที่ต้องการให้รอยเจาะตันสามารถถอดห่วงและปล่อยให้ร่างกายฟื้นฟูได้ตามธรรมชาติ แต่ในบางรายก็อาจทำให้เกิดแผลเป็นและคีลอยด์ ซึ่งสามารถรักษาได้ยาก แม้ว่าการเจาะจมูกหรือการเจาะร่างกายส่วนได้ก็ตามอาจเป็นศิลปะที่ดูสวยงาม แต่ก็มีความเสี่ยง จึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนทำการเจาะเสมอ