เจาะหูแล้วบวม สาเหตุและวิธีรักษาอาการบวมอย่างเหมาะสม

เจาะหูแล้วบวมเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ที่เพิ่งผ่านการเจาะหู ถึงแม้ว่าอาการดังกล่าวอาจทำให้ผู้ที่เจาะหูกังวล แต่อาการบวมที่เกิดขึ้นภายหลังการเจาะหูนั้นมักไม่ร้ายแรง และสามารถรักษาเบื้องต้นให้ดีขึ้นได้ด้วยตนเอง

เจาะหูคือการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเข้าที่บริเวณต่าง ๆ ของใบหู เช่น ติ่งหู ขอบใบหู กะบังหู โดยการเจาะหูควรทำกับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ ใช้อุปกรณ์ที่สะอาด และทำความสะอาดแผลเจาะหูอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนหรืออาการผิดปกติต่าง ๆ รวมถึงอาการเจาะหูแล้วบวมที่อาจเกิดขึ้นด้วย

Ear Swollen after Piercing

สาเหตุของอาการเจาะหูแล้วบวม

ผู้ที่เจาะหูอาจเคยมีอาการเจาะหูแล้วบวมเกิดขึ้น โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่แบคทีเรียเข้าสู่แผลเจาะหู ซึ่งส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ อักเสบ และมีอาการต่าง ๆ เช่น แผลแดง สัมผัสแผลแล้วอุ่น รอบแผลเจาะหูบวม ปวด และอาจมีหนองไหล โดยแผลเจาะหูติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

  • สถานที่เจาะหูหรืออุปกรณ์เจาะหูไม่สะอาด
  • จับแผลเจาะหูด้วยมือที่ไม่สะอาด
  • ถอดต่างหูออกก่อนแผลหาย
  • ไม่ทำความสะอาดแผลเจาะหูเป็นประจำ
  • ว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ แม่น้ำ หรือทะเลก่อนแผลจะหายดี

นอกจากนี้ เจาะหูแล้วบวมยังอาจเกิดจากอาการแพ้ ซึ่งอาจเกิดจากการแพ้วัสดุต่าง ๆ ที่นำมาทำต่างหู เช่น นิกเกิล ทองเหลือง โดยอาการเจาะหูแล้วบวมที่เกิดจากอาการแพ้ อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น คัน แดง ผิวบริเวณที่เจาะหูแห้งหรือผิวลอกเป็นขุย 

วิธีรักษาอาการเจาะหูแล้วบวมอย่างเหมาะสม

หากมีอาการไม่รุนแรง ผู้ที่เจาะหูแล้วบวมสามารถดูแลและรักษาอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเองด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  1. ล้างแผลเจาะหูทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยน้ำเกลือ วันละ 3 ครั้ง หลีกเลี่ยงการใช้แอลกอฮอล์หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอาจทำให้แผลหายช้าขึ้นได้
  2. ทายาปฏิชีวนะชนิดครีมบาง ๆ ให้ทั่วแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค
  3. ไม่ควรถอดต่างหูออก เพราะอาจทำให้แผลเจาะหูสมานกันและทำให้เชื้อโรคติดค้างภายในแผลได้
  4. รับประทานยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดและบวม เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน

หลังจากที่อาการติดเชื้อเริ่มดีขึ้น ควรล้างแผลเจาะหูต่ออีกวันละ 2 ครั้งจนกว่าจะหายสนิท ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 6–8 สัปดาห์ ดังนั้น การดูแลรักษาแผลในระยะเวลานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้ออีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน หากเจาะหูแล้วบวมเกิดจากอาการแพ้และมีอาการไม่รุนแรงมาก อาจลองใช้ยาไฮคอร์ติโซนชนิดทาหรือรับประทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการแพ้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

เจาะหูแล้วบวมเป็นอาการที่มักรักษาได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม หากเจาะหูแล้วบวมมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แผลแดง ปวด และบวมอย่างรุนแรง ไม่สามารถขยับต่างหู ต่างหูฝังอยู่ในเนื้อบริเวณที่เกิดอาการบวม แผลมีหนองสีเหลืองและมีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง