เมื่อพูดถึงเพศสัมพันธ์หรือเซ็กส์ หลายคนมักนึกถึงกิจกรรมที่สร้างความสุขและความสัมพันธ์ระหว่างคู่นอน แต่การมีเพศสัมพันธ์สำหรับบางคนอาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดในบางครั้งได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะฝ่ายหญิง ซึ่งอาการเจ็บขณะมีเซ็กส์ (Painful Intercourse) เป็นปัญหาที่พบได้ทั่วไป นอกจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว อาการนี้อาจส่งผลต่อจิตใจและความสัมพันธ์ได้ด้วย
อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดได้ในทุกช่วงของการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นก่อน ระหว่าง หรือหลังมีเซ็กส์ อาการนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น วัยทอง การขาดการเล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์ ปัญหาทางด้านจิตใจ และอาจเป็นสัญญาณของโรคได้เช่นเดียวกัน โดยในบทความนี้จะพูดถึงอาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ในผู้หญิงและวิธีการบรรเทาอาการเบื้องต้น
สาเหตุของอาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์
อาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์อาจเกิดจากสภาวะทางร่างกายและสาเหตุอื่นได้ เช่น
-
โรคและการบาดเจ็บบริเวณช่องคลอด
การเจ็บป่วยและการบาดเจ็บอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคติดเชื้อภายในทางเดินปัสสาวะ ภาวะปวดปากช่องคลอดเรื้อรัง (Vulvodynia) อาการช่องคลอดอักเสบ และอาการช่องคลอดหดเกร็ง อาการทางผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศอย่างอาการคัน แสบร้อน หรือเป็นแผล การบาดเจ็บบริเวณอุ้งเชิงกรานจากอุบัติเหตุ การคลอดลูก การตัดฝีเย็บ การตัดมดลูก และการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน
-
โรคและการเจ็บป่วยอื่น
นอกจากการเจ็บป่วยบริเวณอวัยวะเพศและอุ้งเชิงกรานแล้ว โรคบางโรคอาจทำให้เกิดอาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน และโรคไทรอยด์ เพราะด้วยลักษณะอาการของโรคหรือการรักษาบางขั้นตอนอาจส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดลง ความรู้สึกและการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากหรือน้อยกว่าปกติ และสภาพร่างกายที่อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
-
อาการช่องคลอดแห้ง
ช่องคลอดแห้ง คือ อาการที่ภายในช่องคลอดขาดความชุ่มชื้น เมื่อสอดใส่อาจทำให้เกิดการเสียดสีและเกิดความรู้สึกเจ็บได้ ซึ่งอาการช่องคลอดแห้งอาจเกิดจากวัยหมดประจำเดือน การคลอดลูก การให้นมลูก ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด และผลข้างเคียงการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็ง
-
การขาดการเล้าโลม
การเล้าโลมก่อนมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญและขาดไม่ได้ เพราะการเล้าโลมที่เพียงพอจะช่วยให้ฝ่ายหญิงผ่อนคลาย ลดความเสี่ยงของอาการช่องคลอดหดเกร็ง และช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นภายในช่องคลอด ซึ่งหากขาดการเล้าโลมหรือเล้าโลมได้ไม่เพียงพอก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บเมื่อสอดใส่ได้
-
ภาวะอารมณ์
ความเจ็บปวดจากการสอดใส่อาจเกิดจากภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกกลัว ความไม่มั่นใจในตนเอง ไปจนถึงปัญหาระหว่างคู่นอน ซึ่งอารมณ์และความรู้สึกเหล่านี้อาจส่งผลให้ช่องคลอดหดเกร็งจนทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เคยผ่านการถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจยังคงฝังใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รู้สึกเจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้
อย่างไรก็ตาม อาจมีสาเหตุและปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ ซึ่งหากลองสังเกตแล้วไม่ทราบสาเหตุ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีแก้ไข
วิธีบรรเทาอาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์เบื้องต้น
ในเบื้องต้นอาจลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากการมีเซ็กส์
1. ใช้เจลหล่อลื่น
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก และค่อนข้างปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีปัญหาช่องคลอดแห้งจากสาเหตุต่าง ๆ โดยเจลหล่อลื่นเป็นสารที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นภายในช่องคลอด ซึ่งอาจลดการเสียดสีขณะสอดใส่ เจลหล่อลื่นมีหลากหลายแบบ แต่ผู้ที่มีปัญหาผิวหนังควรเลือกเจลหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำเป็นหลัก หรืออาจใช้แบบซิลิโคนก็ได้เช่นกัน แต่ควรหลีกเลี่ยงจากใช้เจลหล่อลื่นที่มีส่วนผสมจากน้ำมัน เช่น ปิโตรเลียมเจลลีและน้ำมันทาผิว เพราะน้ำมันส่งผลให้ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยลดลงและทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
2. เล้าโลมให้มากขึ้น
อย่างที่กล่าวแล้วไปว่าการเล้าโลมเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะไม่เพียงช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับช่องคลอด แต่ยังช่วยให้ร่างกาย สมอง และกล้ามเนื้อของฝ่ายหญิงผ่อนคลาย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของอาการช่องคลอดหดเกร็งและเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นเพื่อลดอาการเจ็บปวดจากการมีเพศสัมพันธ์ อีกฝ่ายควรใช้เวลาในการเล้าโลมให้มากขึ้น นอกจากนี้การเล้าโลมยังช่วยเร่งให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดได้เร็วขึ้นด้วย ขั้นตอนนี้จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการถึงจุดสุดยอดช้า
3. ดูแลให้ถูกจุด
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าใครก็ไม่ควรละเลย จึงควรศึกษาวิธีการดูแลอวัยวะเพศและช่องคลอดอย่างถูกต้อง ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและแอลกอฮอล์ เพื่อลดการระคายเคืองของผิวหนังที่อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลจุดซ่อนเร้นไม่ให้อับชื้น และสวมใส่ชุดชั้นในที่สะอาดเสมอ
4. เตรียมตัวก่อนมีเพศสัมพันธ์
การเตรียมตัวก่อนทำกิจกรรมบนเตียงอาจช่วยให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนมีเพศสัมพันธ์ แช่น้ำอุ่นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเหนื่อยล้า และความเครียด เลือกช่วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ หรืออาจรับประทานยาแก้ปวดล่วงหน้าก่อนการมีเซ็กส์
หากทำตามวิธีเหล่านี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะอาการเจ็บจากการมีเพศสัมพันธ์อาจเป็นสัญญาณของโรคบางอย่างได้ และเพื่อป้องกันโรคติดต่อและการเจ็บป่วยบริเวณช่องคลอด ควรดูแลรักษาความสะอาดบริเวณจุดซ่อนเร้นอย่างเหมาะสมอยู่เป็นประจำ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
สุดท้ายนี้ อาการเจ็บหรือความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นระหว่างคู่นอนหรือคนรักอาจนำมาซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ในระยะยาว ดังนั้นหากพบอาการทางร่างกายหรือความรู้สึก ควรพูดคุย ทำความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นร่วมกัน