ความหมาย เจ็บส้นเท้า
เจ็บส้นเท้า เป็นภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บส้นเท้าเมื่อยืน เดิน หรือวิ่ง ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการที่พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ โดยจะมีอาการปวดที่ด้านล่างหรือด้านหลังของส้นเท้า และมักเจ็บส้นเท้าแค่ข้างเดียว ยกเว้นบางรายอาจเกิดอาการทั้ง 2 ข้าง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นและหายเป็นปกติเอง อย่างไรก็ตาม การรักษาจะช่วยทำให้หายเจ็บเร็วขึ้น ถึงแม้ว่าเจ็บส้นเท้าจะไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง แต่ส่งผล กระทบต่อกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้ป่วยได้
อาการเจ็บส้นเท้า
ผู้ป่วยมักเจ็บส้นเท้าเมื่อมีการลงน้ำหนัก ทำให้บางรายเดินขากะเผลก อาจมีอาการเจ็บแปลบ บวมแดง หรือมีรอยฟกช้ำบริเวณส้นเท้า ทั้งนี้ การออกกำลังกายเบา ๆ อย่างการเดินอาจช่วยบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้นได้ แต่การเดินนานเกินไปก็อาจทำให้อาการปวดแย่ลงเช่นเดียวกับการยืดฝ่าเท้า อย่างการเดินขึ้นบันได หรือการเขย่งด้วยปลายเท้า
นอกจากนี้ หากมีอาการต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์
- ปวดเท้ารุนแรง ส้นเท้าบวม และแดงมาก
- ขยับนิ้วหรือเท้าขึ้นลงไม่ได้ เดินไม่ปกติ
- ชาบริเวณส้นเท้าหรือขา และมีไข้สูงร่วมด้วย
สาเหตุของอาการเจ็บส้นเท้า
สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บส้นเท้า คือ การที่พังผืดใต้ฝ่าเท้าถูกทำลาย เกิดการอักเสบและตึงตัวมากเกินไป นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บส้นเท้า ดังต่อไปนี้
ปัญหากระดูกและข้อ เช่น
- การมีหินปูนที่ส้นเท้า (Heel Spur)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
- เนื้องอกที่กระดูก (Bone Tumor)
- กระดูกนูนที่ส้นเท้า (Haglund's Deformity)
- การบวมอักเสบของข้อต่อ (ฺBurstis)
- กระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
- โรคพาเจ็ต ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของกระดูก (Paget's Disease of Bone)
- โรคข้ออักเสบรีแอคตีฟ (Reactive Arthritis)
- กระดูกหักล้า (Stress Fractures)
ปัญหาจากเส้นเอ็นและพังผืดใต้ฝ่าเท้า เช่น
- พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar Fasciitis)
- เอ็นร้อยหวายอักเสบ (ฺAchilles Tendinitis)
- เอ็นร้อยหวายฉีกขาด (Achilles Tendon Rupture)
- การกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อเท้า (Tarsal Tunnel Syndrome)
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น
- การใช้งานฝ่าเท้าหนักเกินไป และการลงน้ำหนักบนส้นเท้าตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การวิ่ง การยืน หรือการนั่งเป็นเวลานาน
- การมีเอ็นร้อยหวายที่ตึง หรือมีความเครียดเกิดขึ้นที่เส้นเอ็นมาก ๆ ทำให้งอข้อเท้าลำบาก และทำให้ส้นเท้าบาดเจ็บได้
- การวิ่งบนพื้นผิวถนนที่มีความหยาบ เช่น การวิ่งบนถนนคอนกรีต เป็นต้น
- การใส่รองเท้าที่มีแผ่นรองรับการกระแทกที่ไม่มีประสิทธิภาพ
- การมีน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้มีการลงน้ำหนักบนส้นเท้ามาก เป็นสาเหตุให้ส้นเท้าตึงและเมื่อยล้ามากกว่าเดิม
- การติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น
- เส้นประสาทอักเสบ ซึ่งอาจเกิดจากเส้นประสาทโดยตรงหรือเป็นผลแทรกซ้อนจากโรคอื่น ๆ
- ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เจ็บส้นเท้าที่พบได้บ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคเก๊าท์
ผู้ป่วยหลายรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เชื่อว่าอาการเจ็บส้นเท้าเกิดขึ้นจากกระดูกงอก แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่มีกระดูกงอกออกมาจากกระดูกส้นเท้านั้น ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยทุกรายมีอาการเจ็บส้นเท้า
การวินิจฉัยอาการเจ็บส้นเท้า
แพทย์จะวินิจฉัยอาการเจ็บส้นเท้าด้วยการตรวจร่างกาย สังเกตจากเท้าว่ามีรอยแดง แผล อาการบวมพอง รอยฟกช้ำหรือไม่ ให้ผู้ป่วยลองขยับเท้าเพื่อดูอาการ ซักถามประวัติการใช้ยา อาการปวด หรือกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจเป็นสาเหตุให้เจ็บส้นเท้าได้ เช่น การยืนติดต่อกันเป็นระยะเวลานานในแต่ละวัน การออกกำลังกายที่หนักเกินไป นอกจากนี้อาจตรวจส่วนอื่น ๆ เพิ่มเพื่อดูโรคที่ปรากฏร่วม กรณีที่วินิจฉัยหาสาเหตุไม่ได้ แพทย์จะตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการเอกซ์เรย์ส้นเท้า และการอัลตราซาวด์ฝ่าเท้า เพื่อหาแนวทางการรักษาต่อไป
การรักษาอาการเจ็บส้นเท้า
การรักษานั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บส้นเท้า ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธีการรักษาแตกต่างกันไป กรณีที่อาการไม่รุนแรงมาก อาจใช้ยา หรือออกกำลังกายด้วยการสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ยืดเส้น และทำกายภาพบำบัด
นอกจากนี้ การรักษาด้วยวิธีเบื้องต้นต่อไปนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บส้นเท้าให้ดีขึ้นได้
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือยาลดอาการอักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน ยา 2 ชนิดนี้มีประสิทธิภาพดีกว่ายาแก้ปวดทั่ว ๆ ไป หากรับประทานยาแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาให้ฉีดยาเพื่อบรรเทาปวด
- การทาครีมหรือเจล ที่มีส่วนผสมของยาลดอาการอักเสบลงบนส้นเท้า และการใช้ถุงน้ำแข็งประคบลงบนเท้าเป็นเวลา 15-20 นาที ก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน
- พักการใช้เท้า ควรหยุดพักการใช้เท้าให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลีกเลี่ยงการวิ่ง การเดินและการเหยียดฝ่าเท้าที่มากเกินไป แต่การเดินและการออกกำลังกายเบา ๆ สามารถทำได้
- การออกกำลังกาย เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการเจ็บส้นเท้ามักจะมีเส้นเอ็นร้อยหวายที่ตึง การออกกำลังกายด้วยการยืดเส้นเอ็นร้อยหวายและเส้นเอ็นฝ่าเท้าเบา ๆ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บส้นเท้าได้
- รองเท้าและแผ่นรองส้นเท้า ผู้มีอาการเจ็บส้นเท้าไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรเลือกซื้อรองเท้าที่มีแผ่นรองเท้า แผ่นกันกระแทก หรือแผ่นรองเสริมอุ้งเท้า และควรใส่แผ่นรองเหล่านี้ในรองเท้าตลอดเวลาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บส้นเท้า
หากใช้วิธีการรักษาดังกล่าวข้างต้นแล้วไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาการรักษาอื่น ๆ เช่น การฉีดยาระงับอาการปวด และการผ่าตัด กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บส้นเท้าเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุ ด้วยการซักถามอาการเจ็บส้นเท้าของผู้ป่วย ประวัติการใช้ยา การรักษา และจะตรวจเพิ่มเติมในกรณีที่ค้นพบว่าอาการเจ็บส้นเท้าไม่ได้เกิดจากการอักเสบแต่มีสาเหตุจากอาการเหล่านี้
- ส้นเท้าบวมและแข็ง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคข้ออักเสบ
- มีไข้สูง และรู้สึกร้อนที่เท้า ซึ่งเป็นสัญญาณของภาวะกระดูกอักเสบติดเชื้อ
- อาการชาหรืออาการเจ็บแปลบ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) ซึ่งเกิดจากเส้นประสาทต่าง ๆ ในเท้าและขาถูกทำลาย
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บส้นเท้า
ผู้ป่วยเจ็บส้นเท้าอาจมีอาการเหน็บชา อาการบวมแดง รอยเขียวช้ำ และอาการปวดแบบแปลบร้าวเกิดร่วมได้ หากปล่อยทิ้งไว้นานและไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บส้นเท้าเรื้อรังได้ และส่งผลกระทบต่อการเดินทำให้เดินกะเผลก จนเกิดปัญหาอื่น ๆ ที่เท้าตามมาได้ นอกจากนี้ เจ็บส้นเท้าเรื้อรังอาจเป็นสาเหตุของอาการบาดเจ็บที่สะโพก ข้อเข่า และหลังได้
การป้องกันอาการเจ็บส้นเท้า
ผู้ป่วยป้องกันอาการเจ็บส้นเท้าได้ ด้วยการตรวจร่างกายก่อนออกกำลังกาย เพื่อประเมินผลการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ ความเสี่ยงที่จะเกิดโรค หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อต่ออักเสบ และโรคที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทที่ถูกทำลายด้วยโรคเบาหวาน ควรรักษาให้หายก่อนออกกำลังกาย
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อป้องกันอาการเจ็บส้นเท้า
- ผู้ที่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐานควรพยายามลดน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินไปทำให้มีแรงกดมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดความเสียหายกับเท้าและส้นเท้าได้
- ใส่รองเท้าให้เหมาะสมแก่การใช้งาน เลือกซื้อรองเท้าที่มีแผ่นรองส้นเท้าและมีส่วนเสริมอุ้งเท้า นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนรองเท้าบ่อย ๆ เนื่องจากรองเท้าที่มีอายุการใช้งานนานเกินไปนั้นแผ่นรองเท้ามักเสื่อมประสิทธิภาพ
- ควรยืดฝ่าเท้าเป็นประจำก่อนออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นที่แข็งเกินไป เช่น พื้นถนนที่เป็นคอนกรีต เป็นต้น