เจ็บหัวนม รู้จักสาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง

เจ็บหัวนม เป็นอาการที่พบได้บ่อย เนื่องจากผิวหนังบริเวณหัวนมเป็นผิวหนังที่ค่อนข้างไวต่อสิ่งกระตุ้น อย่างไรก็ตาม อาการเจ็บหัวนมโดยส่วนใหญ่ไม่ใช่สัญญาณผิดปกติที่ร้ายแรง มักไม่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา และมักพบว่าอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายเองได้

อาการเจ็บหัวนมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีตั้งแต่ทั้งสาเหตุที่ไม่รุนแรงที่สามารถแก้ไขด้วยตัวเอง อย่างการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป หรือการให้นมลูกน้อยของคุณแม่ ไปจนถึงสาเหตุที่รุนแรงและควรได้รับการดูแลจากแพทย์ อย่างโรคมะเร็งเต้านม ในบทความนี้จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการเจ็บหัวนมมาให้ทุกคนได้ศึกษาและนำไปสังเกตตัวเองกัน

เจ็บหัวนม รู้จักสาเหตุและวิธีการดูแลตัวเอง

สาเหตุของอาการเจ็บหัวนม

อาการเจ็บหัวนมสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปจนถึงสัญญาณของโรคบางชนิด โดยตัวอย่างของสาเหตุที่มักพบได้บ่อย เช่น

1. เสื้อผ้าที่สวมใส่

เสื้อผ้าที่สวมใส่ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยของอาการเจ็บหัวนม โดยอาจจะเกิดได้จากทั้งการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปหรือหลวมเกินไป จนส่งผลให้เกิดการเสียดสีขณะขยับร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่วิ่งหรือออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้ ในบางกรณีภาวะแพ้เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บหัวนมได้เช่นกัน

2. การให้นมลูก

สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงการให้นมลูกน้อย การให้นมที่ผิดท่าอาจทำให้ลูกน้อยดูดนมจากเพียงบริเวณหัวนมเท่านั้นแทนที่จะเป็นบริเวณหัวนมและปานหัวนม ซึ่งจะส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเจ็บหัวนมตามมาได้ นอกจากนั้น ในกรณีที่คุณแม่ที่ใช้เครื่องปั๊มนม หากเลือกขนาดกรวยปั๊มนมที่ไม่พอดีกับหัวนม ก็อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการเจ็บหัวนมได้

3. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ในขณะตั้งครรภ์ หรือช่วงที่มีประจำเดือน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยซึ่งส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหัวนมได้เช่นกัน

โดยในกรณีที่อาการเจ็บหัวนมเกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน อาการเจ็บหัวนมจะมักเกิดขึ้นก่อนที่ประจำเดือนจะมาไม่นาน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงที่มีประจำเดือน มักส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณหน้าอกเกิดอาการบวมและเจ็บได้

ส่วนในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ อาการเจ็บหัวนมและอาการเจ็บเต้านมจะเป็นอาการแรกเริ่มที่มักพบได้ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงนี้ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยนอกจากอาการเจ็บหัวนมแล้ว ผู้ที่อยู่ในกลุ่มนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หัวนมมีขนาดใหญ่ขึ้น หัวนมมีสีคล้ำขึ้น และหัวนมไวต่อการสัมผัสมากขึ้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีกรณีอื่น ๆ อีกที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายจนนำไปสู่อาการเจ็บหัวนม เช่น การเข้าสู่ช่วงวัยทอง การเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น การใช้ยาคุมกำเนิด 

4. โรคหรือภาวะผิดปกติทางผิวหนัง

ในบางครั้งอาการเจ็บหัวนมอาจเป็นผลมาจากการที่ผิวหนังบริเวณหัวนมเกิดอาการแพ้ต่อสบู่ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือสารทำความสะอาดบางชนิด

ในบางครั้ง อาการเจ็บหัวนมอาจเป็นผลมาจากโรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นบางชนิดผิดปกติไป เช่น สบู่ น้ำหอม ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หรือสารทำความสะอาดบางชนิด

โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจพบอาการอื่นนอกจากเจ็บหัวนมร่วมด้วย เช่น คันหัวนม บริเวณหัวนมมีอาการบวม หรือเกิดแผลพุพองบริเวณหัวนม 

5. การติดเชื้อ

สำหรับผู้ที่พบว่าอาการเจ็บหัวนมมีความรุนแรงผิดปกติ อาจเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยมีภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis) อยู่ โดยภาวะนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อบริเวณเต้านม หัวนม หรือท่อน้ำนม ซึ่งมักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร

6. มะเร็ง

สำหรับผู้ที่มีสาเหตุมาจากโรคมะเร็ง ผู้ป่วยมักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น คลำพบก้อนเนื้อในเต้านม มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างผิดแปลกไป หรือเกิดหัวนมบอด ทั้งนี้ อาการเจ็บหัวนมที่เกิดจากโรคมะเร็งถือเป็นกรณีที่พบได้น้อย

เจ็บหัวนม ดูแลตัวเองอย่างไรดี

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการเจ็บหัวนมที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใด ๆ ที่มีความรุนแรงมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้เอง โดยผู้ที่มีอาการที่คิดว่าพบสาเหตุของอาการเจ็บหัวนม อาจจะหลีกเลี่ยงสาเหตุไปด้วย เพื่อให้อาการหายเร็วขึ้นและไม่ให้อาการเจ็บยิ่งแย่ลง เช่น ผู้ที่เห็นว่าอาการอาจมาจากการถูกเสื้อผ้าที่แน่นหรือหลวมเกินไปจนเกิดการเสียดสี ก็ควรเลือกสวมเสื้อผ้าที่พอดีกับร่างกายแทน

หรือผู้ที่เห็นว่าอาการอาจเกิดจากการมีประจำเดือน อาจจะเลือกรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาไปในช่วงนี้เพื่อบรรเทาอาการ โดยผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้มักพบว่าอาการหายไปได้เองในเวลา 1–2 วัน

ส่วนคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมลูก หากคุณแม่ใช้เครื่องปั๊มนมอยู่ ให้เลือกขนาดกรวยปั๊มนมที่พอดีกับขนาดหัวนม หรือหากคุณแม่ที่ให้นมลูกด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง อาจจะลองปรับท่าให้นมให้เหมาะสมตามขั้นตอนต่อไปนี้

1. จับลูกนอนในอ้อมแขน โดยให้ลำตัวตะแคงเข้าหาตัวคุณแม่เล็กน้อย

2. จัดท่าให้บริเวณจมูกของลูกอยู่บริเวณหัวนมของคุณแม่ โดยให้ใช้แขนและมือคอยประคองลูกเอาไว้

3. ค่อย ๆ ประคองศีรษะของลูกให้ลูกดื่มนม โดยคุณแม่ควรสังเกตและให้ลูกดื่มนมจากทั้งหัวนมและปานหัวนมเสมอ และไม่ควรดึงลูกน้อยออกกลางคันขณะให้นมอยู่

นอกจากนี้ คุณแม่อาจบีบและนวดบริเวณหัวนมเบา ๆ ก่อนให้นมลูก เพื่อให้น้ำนมไหลออกมาเล็กน้อยและช่วยให้หัวนมนิ่มลง และหลังจากที่ให้นมเสร็จแล้วคุณแม่ควรเช็ดบริเวณหัวนมให้แห้งเสมอและหมั่นเปลี่ยนแผ่นซับน้ำนม

ทั้งนี้ แม้โดยส่วนใหญ่อาการเจ็บหัวนมจะไม่ใช่สัญญาณผิดปกติทางร่างกายที่รุนแรง แต่ผู้ที่มีปัญหาเจ็บหัวนมควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น หรือพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกมาจากหัวนม เกิดรอยแดงที่ไม่ดีขึ้นเอง คลำพบก้อนในเต้านมหรือใต้แขน เกิดหัวนมบอด หรือผิวหนังบริเวณหัวนมลอก