เชื้อราในช่องปาก ปัญหาสุขภาพของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

เชื้อราในช่องปาก (Oral Thrush) เป็นการติดเชื้อที่พบได้มากในทารกและเด็กเล็ก มักเกิดจากการติดเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในช่องปากและลำไส้ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะทำหน้าที่จะรักษาปริมาณของเชื้อรานี้ให้สมดุล จึงทำให้ไม่เกิดปัญหาสุขภาพ

แต่หากเด็กมีเชื้อราดังกล่าวมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ การเพิ่มจำนวนของเชื้อรายังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้อีก เช่น การรักษาหรือดูแลโรคประจำตัวอย่างไม่เหมาะสม การได้รับเชื้อราเมื่อคลอดผ่านทางช่องคลอดของมารดา หรือการดูดอมสิ่งของที่มีเชื้อราปนเปื้อน แม้ว่าเชื้อราในช่องปากมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรง แต่ก็อาจทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายช่องปากได้

เชื้อราในช่องปาก ปัญหาสุขภาพของเด็กที่พ่อแม่ควรรู้

อาการของเชื้อราในช่องปาก

หากทารกติดเชื้อราในช่องปาก ผู้ปกครองจะสังเกตเห็นอาการต่อไปนี้

  • จุดหรือรอยสีขาวบริเวณริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก หรือเพดานปาก ซึ่งไม่สามารถถูออกได้
  • เนื้อเยื่อใต้จุดขาวมักจะเป็นสีแดง เป็นแผลอักเสบและมีเลือดซึม
  • มีแผลแตกบริเวณมุมปาก

ทั้งนี้ เด็กอาจไม่รู้สึกเจ็บหรือไม่สบายภายในช่องปากในเวลาปกติ แต่อาจกินอาหารได้น้อยลง และอาจรู้สึกไม่สบายช่องปากเมื่อดูดหรืออมสิ่งต่าง ๆ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการเชื้อราในช่องปากของเด็กจากร่องรอยอาการที่ปรากฏและสอบถามถึงปัจจัยแวดล้อมที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ จากนั้น แพทย์อาจขูดรอยขาวเพื่อตรวจดูเพิ่มเติมว่าหลังจากที่ขูดแล้ว บริเวณดังกล่าวเป็นผื่นแดง แผลอักเสบ หรือมีเลือดซึมหรือไม่ รวมทั้งแพทย์อาจเก็บตัวอย่างจากเลือดและบาดแผลในปากเพื่อนำไปเพาะเชื้อภายในห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ระบุชนิดของเชื้อราได้

เชื้อราในช่องปากกับวิธีรักษาสำหรับเด็ก

ผู้ปกครองควรพาทารกและเด็กไปพบแพทย์หากสังเกตเห็นหรือสงสัยเกี่ยวกับสิ่งผิดปกติในช่องปาก ซึ่งตามปกติเด็กที่มีเชื้อราในช่องปากอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา เพราะอาการอาจหายไปเองเมื่อเวลาผ่านไป

ในกรณีที่เด็กกินข้าวได้ลำบากหรือรู้สึกระคายเคืองในช่องปาก แพทย์อาจจ่ายยาต้านเชื้อรารูปแบบยาทาหรือเจลเคลือบเยื่อบุในช่องปาก โดยหากเป็นรูปแบบยาทา ผู้ปกครองจะต้องทาให้เด็กติดต่อกันเป็นเวลา 10 วันและทาหลังเด็กกินอาหาร

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองอาจบรรเทาการติดเชื้อราในช่องปากด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น ผสมเบคกิ้งโซดาเข้ากับน้ำต้มสุกครึ่งแก้ว หรือ ผสมน้ำมันสกัดจากต้นทีทรี (Tea Tree Oil) 1–2 หยดเข้ากับน้ำต้มสุก ใช้คอตตอนบัดสะอาดจุ่มและทาลงบนบริเวณที่เป็นเชื้อรา

อย่างไรก็ตาม หากพบว่าทารกหรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 เดือนเกิดเชื้อราในช่องปากซ้ำบ่อยครั้ง ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ได้

เชื้อราในช่องปาก ภาวะที่ป้องกันได้

ผู้ปกครองสามารถป้องกันการเกิดภาวะเชื้อราในช่องปากได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • ล้างขวดนม จุกนมปลอม และอุปกรณ์ปั๊มนมให้สะอาดทุกครั้งหลังใช้
  • ล้างมือ ของเล่น และยางกัดให้สะอาดอยู่เสมอ
  • หลังปั๊มนมแม่ ควรนำนมแช่เย็นและไม่วางนมทิ้งไว้ด้านนอกโดยไม่จำเป็นเพื่อป้องกันการเจริญเติบโตของยีสต์
  • ทำความสะอาดหัวนมเป็นระยะในระหว่างการให้นม และดูแลหัวนมให้แห้งหลังป้อนนมเสร็จแล้ว
  • ซักเสื้อผ้าด้วยน้ำอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียสเพื่อกำจัดเชื้อราที่ติดอยู่บนเสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้แผ่นรองเปื้อนที่เป็นแผ่นพลาสติก
  • เปลี่ยนแผ่นรองเปื้อนทุกครั้งเมื่อเปียก
  • หากเด็กมีผื่นผ้าอ้อม ควรทำดูแลรักษาอาการที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
  • หากลูกน้อยป่วยด้วยโรคหืด ควรล้างปากเด็กให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้ยารักษาโรคหืด
  • หากเด็กเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรดูแลรักษาระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
  • ใช้ยาปฏิชีวนะตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด

อย่างไรก็ตาม หากคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเด็กยังคงมีอาการเชื้อราในช่องปากอยู่หลังจากใช้ยาทาปากไปแล้ว 1 สัปดาห์ หรือมีเชื้อราในช่องปากร่วมกับอาการเจ็บเมื่อกลืนหรือมีอาการกลืนลำบาก มีภาวะขาดน้ำ ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยหรือปัสสาวะเป็นสีเข้ม ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม