โรคไทรอยด์เป็นโรคที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ซึ่งต่อมนี้มีหน้าที่สำคัญในการผลิตฮอร์โมนเพื่อควบคุมกระบวนการเผาผลาญ เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป ทำให้ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนในปริมาณที่เหมาะสมได้ จึงส่งผลให้ระบบในร่างกายทำงานผิดปกติ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็อาจนำไปสู่ภาวะสุขภาพอื่นที่ร้ายแรงขึ้นด้วย
โรคไทรอยด์เกิดได้กับทุกคน แต่คนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไทรอยด์มากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังเป็นโรคที่ถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมมาแต่กำเนิด หรือเกิดตอนโตได้เช่นเดียวกัน หากเรารู้ถึงอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคไทรอยด์ อาจช่วยให้สามารถเข้ารับการตรวจและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
โรคไทรอยด์มีอะไรบ้าง
โรคหรือภาวะสุขภาพที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของต่อมไทรอยด์นั้นมีอยู่หลายชนิด โดยโรคของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนมากเกินไป
- ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ
- โรคคอพอก (Goiter) หรือภาวะที่ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ผิดปกติ จนสามารถสังเกตเห็นหรือคลำพบก้อนนูนใต้ผิวหนัง
- โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)
นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ เช่น โรคเกรฟส์ (Graves' Disease) ที่เกิดจากความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันของต่อมไทรอยด์ และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ รวมถึงโรคต่อมไทรอยด์อักเสบจากภูมิคุ้มกัน (Hashimoto's Thyroiditis) ทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้ไม่เพียงพอ และนำไปสู่การเกิดภาวะไฮโปไทรอยด์ในเด็กและวัยรุ่นได้ด้วย
สัญญาณเตือนต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
เนื่องจากโรคไทรอยด์มีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีอาการที่แตกต่างกันไป รวมถึงอาการของโรคไทรอยด์บางชนิดยังอาจคล้ายกับภาวะสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวหรืออาจนึกไม่ถึงว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ จึงไม่ได้รับการรักษาอย่างตรงจุด
อย่างไรก็ตาม อาการที่อาจบ่งบอกได้ว่าต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติมีดังนี้
- มีก้อนนูนเกิดขึ้นที่ลำคอ บริเวณลูกกระเดือกในเพศชายหรือบริเวณเหนือไหปลาร้าในเพศหญิง โดยสามารถสัมผัสหรือมองเห็นได้จากผิวหนังภายนอก ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคคอพอก
- น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มเพิ่มขึ้นผิดปกติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกาย
- ประจำเดือนผิดปกติ โดยอาจเกิดขึ้นได้ทั้งประจำเดือนไม่มาหรือประจำเดือนมาบ่อย รวมถึงปริมาณของประจำเดือนที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปด้วย
- ไวต่ออุณหภูมิของอากาศ โดยรู้สึกร้อนหรือหนาวเย็นมากกว่าปกติ
- อารมณ์แปรปรวน รู้สึกหงุดหงิด วิตกกังวล รวมถึงมีปัญหาในการนอนหลับ
- รู้สึกเหนื่อยมาก มีอาการเมื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือมีอาการสั่น
- ผมร่วงผมบาง หรือผมมีลักษณะแห้ง หยาบกระด้าง
- มีอาการระคายเคืองตา หรือมีปัญหาในการมองเห็น
นอกจากนี้ บางคนอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไทรอยด์ได้มากกว่าคนทั่วไปหากมีปัจจัยส่งเสริมบางอย่าง ได้แก่ มีคนในครอบครัวเป็นโรคไทรอยด์ มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยเฉพาะเพศหญิง รับประทานยาที่มีไอโอดีนสูง เคยรักษาโรคมะเร็งไทรอยด์หรือภาวะที่เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ รวมถึงมีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางชนิดรุนแรง โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus)
ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือพบสัญญาณเตือนถึงโรคไทรอยด์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เนื่องจากการรักษาโรคไทรอยด์ส่วนใหญ่จะต้องรักษาในระยะยาวหรือรักษาไปตลอดชีวิต หากตรวจพบได้เร็วก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม และอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการร้ายแรงอื่น ๆ ด้วย