เด็กขาดสารอาหาร เรียนรู้อาการและวิธีรับมือ

เด็กขาดสารอาหาร (Malnourished children) คือภาวะที่เด็กได้รับโภชนาการไม่สมดุล โดยอาจเป็นได้ทั้งกรณีที่ได้รับสารอาหารน้อยเกินไปหรือมากเกินไป แต่มักพบเด็กที่ได้รับสารอาหารน้อยเกินไปได้บ่อยกว่า โดยภาวะขาดสารอาหารสามารถส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงวัยเด็กจนถึงช่วงวัยผู้ใหญ่อีกด้วย 

การขาดสารอาหาร หรือ ภาวะทุพโภชนาการเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทุกคนและสามารถส่งผลต่อสุขภาพได้ อย่างไรก็ตาม วัยเด็กเป็นวัยที่ต้องการสารอาหารเพื่อการเจริญเติบโตมากกว่าวัยผู้ใหญ่ การดูแลเด็กเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดสารอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากการขาดสารอาหารอาจทำให้เด็กเติบโตอย่างไม่เต็มที่และอาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพได้ในอนาคต

Malnourished Children

อาการที่ควรสังเกตของเด็กขาดสารอาหาร

การสังเกตอาการของเด็กขาดสารอาหารนั้นสามารถสังเกตได้จากส่วนสูงและน้ำหนักเปรียบเทียบกับค่า BMI เนื่องจากโดยปกติแล้วเด็กขาดสารอาหารมักจะมีส่วนสูงและน้ำหนักที่ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ในเด็กที่ได้รับโภชนาการเกินก็อาจจะมีน้ำหนักที่มากกว่าเกณฑ์ด้วยเช่นกัน 

นอกจากการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนักแล้ว ยังสามารถสังเกตอาการของเด็กได้ดังนี้

  • ลักษณะภายนอกอาจมีหน้าท้องแต่แขนขาลีบ หรือมีข้อมือและเท้าที่บวมน้ำ ผมบางร่วงง่าย ผิวซีด และแห้ง 
  • เป็นโรคติดต่อหรือป่วยง่าย เนื่องจากการขาดสารอาหารส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กอ่อนแอลง
  • อารมณ์แปรปรวนเนื่องจากการขาดสารอาหารส่งผลต่อการพัฒนาทางจิต เด็กอาจหงุดหงิดแบบไม่มีสาเหตุ วิตกกังวล หรือ เซื่องซึม
  • เหนื่อยง่ายกว่าเด็กคนอื่นเพราะมีพลังงานน้อย
  • มีความอยากอาหารน้อย เนื่องจากอาการขาดสารอาหารส่งผลต่อต่อมรับรส
  • มีปัญหาในการเรียนรู้ เช่น อาจเรียนรู้ช้า เนื่องจากการขาดสารอาหารส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก

นอกจากสังเกตอาการดังกล่าวแล้ว การเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเด็กมีอาการขาดสารอาหารหรือไม่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งเช่นกัน โดยแพทย์จะมีการใช้เกณฑ์ BMI และ เทปวัดวงรอบต้นแขนของเด็ก (the mid-upper arm circumference or MUAC tape) เพื่อตรวจว่าเด็กขาดสารอาหารมากน้อยแค่ไหน 

ผลของการขาดสารอาหารในเด็ก

การขาดสารอาหารส่งผลต่อสุขภาพในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ โดยเด็กที่ขาดสารอาหารอาจเสี่ยงเกิดภาวะแคระแกร็น (Stunting) ซึ่งเป็นภาวะที่เด็กมีความสูงต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในเด็กวัยเดียวกัน ภาวะนี้สามารถเกิดในช่วงอายุ 5 ปีแรก หรือเป็นตั้งแต่เกิดจากการขาดสารอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยภาวะแคระแกร็นชะลอพัฒนาการและการเจริญเติบโต ทั้งยังอาจส่งผลให้ป่วยง่าย ไปจนถึงเกิดอันตรายต่อชีวิตของเด็กได้ 

นอกจากภาวะแคระแกร็นแล้วเด็กขาดสารอาหารที่ได้รับโภชนาการเกินอาจมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน (Overweight) ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปจนทำให้มีไขมันส่วนเกินและเสี่ยงเป็นโรคอ้วนในเด็กซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เมื่อโตขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และสโตรก

สาเหตุของการขาดสารอาหาร

เด็กขาดสารอาหารอาจเกิดได้จากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เด็กขาดอาหารมีประโยชน์สำหรับบริโภค หรืออาจเกิดจากการเป็นโรคต่าง ๆ ที่ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ท้องร่วง และหากแม่มีภาวะขาดสารอาหาร หรือภาวะแคระแกร็นก็อาจส่งผลให้เด็กไม่ได้รับสารอาหารตั้งแต่อยู่ในครรภ์และเกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำ เสี่ยงต่อภาวะแคระแกร็นและอาจอันตรายต่อชีวิตช่วงแรกเกิดได้

นอกจากนี้เด็กขาดสารอาหารยังเกิดจากโรคการกินผิดปกติ (Eating disorder) หรือปัญหาทางจิตที่ส่งผลให้เด็กกินอาหารน้อย หรือ ปฏิเสธการกินอาหารอีกด้วย 

วิธีป้องกันไม่ให้เด็กขาดสารอาหาร

การป้องกันไม่ให้เด็กขาดสารอาหารควรเริ่มตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์ โดยคุณแม่ควรทานอาหารที่มีสารอาหารครบ เพิ่มน้ำหนักตัวเพื่อให้สารอาหารแก่ลูก และควรระวังโรคโลหิตจางด้วยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก ส่วนหลังจากลูกคลอดแล้วควรดูแลให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วง 1,000 วันแรกที่เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเติบโตของเด็ก 

ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้เด็กเกิดภาวะทุพโภชนาการที่ดีที่สุด คือการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และกินให้พอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไปเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนเหมาะสม 

วิธีรับมือเมื่อเด็กขาดสารอาหาร 

การดูแลเด็กขาดสารอาหารขึ้นอยู่กับอาการ หากเด็กขาดสารอาหารไม่รุนแรงจะมีวิธีรับมือเบื้องต้นดังนี้

  • ให้เด็กกินอาหารที่มีพลังงานและสารอาหารมาก 
  • กินอาหารเสริมที่ช่วยเสริมวิตามิน ธาตุเหล็กและแร่ธาตุต่าง ๆ รวมถึงโฟเลต หรือวิตามิน บี 9
  • เด็กทารกหรือเด็กที่มีอายุ 6 เดือน – 5 ปี ควรกินอาหารที่ให้สารอาหารมากแต่พลังงานต่ำ (Nutrient-dense foods) เช่น ผัก ผลไม้ ต่าง ๆ 
  • คอยชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงของเด็กเพื่อดูผลของการรักษา หากเด็กอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรพบแพทย์

หากเด็กขาดสารอาหารรุนแรง การเข้ารับการรักษาดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นทางเลือกดีที่สุด ซึ่งแพทย์จะรักษาด้วยการแนะนำอาหารการกินที่เหมาะสมต่ออาการของเด็ก หรืออาจใช้การให้อาหารผ่านสายยางหากเด็กไม่สามารถรับสารอาหารจากการกินตามปกติได้

เด็กขาดสารอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวควรใส่ใจ เพราะการขาดสารอาหารส่งผลต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งยังอาจทำให้เกิดวงจรของการขาดสารอาหารหรือปัญหาสุขภาพต่อลูกหลานได้ ดังนั้นหากเด็กมีอาการที่น่าเป็นห่วง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างแข็งแรง