ปัจจุบันมีวัคซีนภูมิแพ้ที่เป็นการรักษาทางเลือกสำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นภูมิแพ้อากาศ โรคหืดจากภูมิแพ้ ภูมิแพ้ขึ้นตา ภูมิแพ้จากแมลงกัดต่อย หรือภูมิแพ้จากสาเหตุอื่น ซึ่งวัคซีนชนิดนี้อาจช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนที่เป็นภูมิแพ้ดีขึ้นในระยะยาว
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้อาจช่วยลดอาการของโรคภูมิแพ้ ป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ชนิดใหม่ ๆ รวมถึงความเสี่ยงของการเกิดโรคหืดจากโรคภูมิแพ้ที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก คนที่สนใจจะฉีดวัคซีนชนิดนี้สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนภูมิแพ้ พร้อมทั้งการเตรียมตัวอย่างถูกวิธีได้จากในบทความนี้
ใครบ้างควรฉีดวัคซีนภูมิแพ้
วัคซีนภูมิแพ้อนุญาตให้ใช้ในคนที่มีอายุ 5 ปีขึ้นไปเท่านั้น เหมาะกับผู้ป่วยภูมิแพ้ที่แพทย์เห็นสมควรให้ฉีด เช่น ภูมิแพ้อากาศ โรคหืดจากภูมิแพ้ โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคภูมิแพ้เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ฝุ่น ไรฝุ่น และแมลง
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงหรือป้องกันสารที่ก่อโรคภูมิแพ้ได้ยาก การรักษาด้วยยาใช้ไม่ได้ผล ยาแก้แพ้ทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่น ๆ หรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ตามมา รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรับประทานยาหรือลดการใช้ยาแก้แพ้ในระยะยาวก็เหมาะแก่การฉีดวัคซีนภูมิแพ้เช่นกัน
สำหรับสตรีมีครรภ์หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด หรือกำลังใช้ยาบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคภูมิแพ้ เพราะอาจส่งผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
วัคซีนภูมิแพ้ทำงานอย่างไร
ต้องเข้าใจก่อนว่า วัคซีนภูมิแพ้นั้นเตรียมจากสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) ที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดโรคของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแพทย์จะฉีดวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอต่อการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะเริ่มจากปริมาณวัคซีนที่ต่ำมากแล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเท่าที่ร่างกายผู้ป่วยจะรับไหวและไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมา
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ให้ครบตามกำหนดหรือตามที่แพทย์แนะนำจะช่วยป้องกันหรือบรรเทาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระยะเริ่มแรกหรือช่วง 3–6 เดือนแรก จะเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดยแพทย์อาจฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยสัปดาห์ละ 1–3 ครั้งตามดุลยพินิจ
ในระยะถัดมาจะเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันคงอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งอาจกินเวลานาน 3–5 ปีหรือนานกว่านั้น โดยปรับความถี่ของการฉีดวัคซีนเหลือเพียงเดือนละ 1–2 ครั้ง ทว่าหากผู้ป่วยฉีดวัคซีนภูมิแพ้อย่างต่อเนื่องเกิน 1 ปี แล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจจำเป็นต้องหยุดฉีดเนื่องจากการรักษาด้วยวัคซีนอาจใช้ไม่ได้ผล
ทั้งนี้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี เพื่อลดโอกาสที่อาการภูมิแพ้จะกลับมาหรือเป็นหนักอีกครั้ง โดยผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้นั้นไม่จำเป็นต้องงดใช้ยาแก้แพ้ และควรใช้ยาโรคหืดที่แพทย์แนะนำหรือสั่งจ่ายตามปกติด้วย
ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนภูมิแพ้มีอะไรบ้าง
ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนภูมิแพ้มักมีอาการบวม แดง หรือระคายเคืองบริเวณที่ฉีดวัคซีน หรืออาจมีอาการแพ้ เช่น จาม คัดจมูก ลมพิษ และอาการที่รุนแรงอย่างคอบวม หายใจมีเสียงหวีด หรือแน่นหน้าอก ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงอย่างเฉียบพลัน (Anaphylaxis) ส่งผลให้มีปัญหาในการหายใจและความดันโลหิตต่ำ แต่มักพบได้น้อยมาก
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบทันที บางครั้งกว่าผลข้างเคียงจะแสดงออกมาอาจกินเวลานานหลายชั่วโมง ผู้ป่วยควรสังเกตอาการและจดบันทึกไว้เพื่อปรึกษาแพทย์ในการนัดหมายครั้งถัดไป หากมีอาการรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที
เตรียมตัวให้พร้อมก่อนฉีดวัคซีนภูมิแพ้
ก่อนเริ่มการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ แพทย์จะทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือตรวจเลือด เพื่อตรวจหาสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ โดยตัวผู้ป่วยเองควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับประวัติสุขภาพ ประวัติการใช้ยา วิตามินหรืออาหารเสริม รวมถึงอาการป่วยใด ๆ ที่อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงของอาการข้างเคียงและเพิ่มความปลอดภัยให้ได้มากที่สุด
ผู้ป่วยยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก ๆ อย่างน้อย 1–2 ชั่วโมงก่อนและหลังการฉีดวัคซีน เพราะอาจกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลให้สารก่อภูมิแพ้แพร่กระจายได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นทันที แต่มักเห็นผลหรือมีอาการดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 1–2 ปีแรก เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ผู้ป่วยมักทนต่อสารก่อภูมิแพ้จากการฉีดวัคซีนได้มากขึ้น อีกทั้งอาการแพ้จากวัคซีนยังอาจลดน้อยลงด้วย
วัคซีนภูมิแพ้เป็นการรักษาทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยให้โรคภูมิแพ้ของใครหลายคนดีขึ้นหรือหายได้นานหลายปี แต่เนื่องจากร่างกายและสภาวะทางสุขภาพของแต่ละคนนั้นต่างกัน แม้จะฉีดวัคซีนครบตามกำหนดแล้วก็อาจได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันไปด้วย
ในกรณีที่อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นอาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องต่อไปหรือรักษาด้วยวิธีอื่น เพื่อควบคุมอาการให้ทรงตัว และไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน