บริจาคเลือด (Blood Donation) หรือบริจาคโลหิต เป็นการบริจาคเลือดของตัวเองเพื่อนำไปเก็บไว้ในคลังเลือดสำรอง โดยเลือดที่ได้รับการบริจาคจะถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับเลือด เช่น ผู้ที่สูญเสียเลือดจากอุบัติเหตุหรือจากการผ่าตัด รวมถึงผู้ป่วยโรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง โรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด (Hemophilia)
การบริจาคเลือดนอกจากจะได้ช่วยผู้อื่นแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของไขกระดูกของผู้บริจาค ทำให้เม็ดเลือดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากไขกระดูกแข็งแรงและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเม็ดเลือดที่บริจาคไป แต่การบริจาคเลือดแต่ละครั้งจะสูญเสียเลือดประมาณ 10% ของร่างกาย จึงควรทิ้งระยะห่างกันอย่างน้อย 12 สัปดาห์ เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดใหม่ได้
ประเภทของการบริจาคเลือด
การบริจาคเลือดแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
- การบริจาคเลือดรวม (Whole Blood) เป็นการบริจาคเลือดแบบพื้นฐาน โดยเลือดที่ได้รับจากผู้บริจาคจะถูกนำไปแยกเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง พลาสม่า และเกล็ดเลือด
- การบริจาคเกล็ดเลือด (Single Donor Platelets) โดยใช้วิธีการกรองเลือดเพื่อกรองเอาเกล็ดเลือดและพลาสมาบางส่วนออกจากเลือด และคืนเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้บริจาค
- การบริจาคพลาสมา (Single Donor Plasma) โดยจะมีทั้งการบริจาคพลาสมาที่ทำพร้อมกับการบริจาคเกล็ดเลือด หรือบริจาคเพียงพลาสมาอย่างเดียวก็ได้
- การบริจาคเม็ดเลือดแดง (Single Donor Red Cell) โดยใช้วิธีการกรองเลือดเพื่อเก็บเม็ดเลือดแดง ซึ่งการเก็บเม็ดเลือดแดงจะต้องใช้วิธีทางห้องปฏิบัติการเข้าช่วย
คุณสมบัติที่สามารถบริจาคเลือดได้
ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเลือดจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
- มีอายุตั้งแต่ 17–70 ปี หากมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์จะต้องมีเอกสารยินยอมจากผู้ปกครอง และหากเป็นผู้บริจาคครั้งแรกไม่ควรมีอายุเกิน 55 ปี
- สุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์
- มีน้ำหนักตั้งแต่ 45 กิโลกรัมขึ้นไป
- นอนหลับอย่างเพียงพอประมาณ 6 ชั่วโมงในคืนก่อนมาบริจาคเลือด
- ไม่มีอาการท้องเสียหรือเป็นไข้หวัด ในช่วง 7 วันก่อนการบริจาคเลือด
- ไม่มีอาการน้ำหนักลดลงผิดปกติในช่วง 3 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
- ไม่เคยถูกเข็มที่เปื้อนเลือดตำในช่วง 1 ปีก่อนการบริจาคเลือด
- ไม่มีประวัติการเสพยาเสพติด
- ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ หรือไม่มีคู่นอนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ
- ไม่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่มีการคลอดบุตรหรือแท้งบุตรในช่วง 6 เดือนก่อนการบริจาคเลือด
- หากมีการทำทันตกรรม เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน หรือรักษารากฟัน ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วัน
- หากมีการเจาะหู สัก ลบรอยสัก หรือฝังเข็ม ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 4 เดือน
- หากมีการผ่าตัดใหญ่ ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการผ่าตัดเล็ก ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 7 วัน
- หากเคยเจ็บป่วยและเคยได้รับการให้เลือดจากผูู้อื่น ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี
- หากเป็นผู้ที่เพิ่งพ้นโทษ ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 ปี
- หากเคยป่วยเป็นโรคไข้มาลาเรีย ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 ปี หากเคยเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรทิ้งระยะห่างก่อนการบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ปี
นอกจากนี้ หากผู้บริจาคมีอายุตั้งแต่ 60–70 ปี จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
ผู้บริจาคเลือดที่มีอายุ 60–65 ปี
ผู้บริจาคเลือดที่มีอายุ 60–65 ปีจะต้องเป็นผู้ที่บริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอจนถึงอายุ 60 ปี และต้องตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: CBC) ก่อนบริจาคเลือดทุกครั้ง รวมถึงควรตรวจปริมาณธาตุเหล็กในเลือด (Serum Ferritin) และผลเคมีของเลือด (Blood Chemistry) ปีละ 1 ครั้ง ก่อนการบริจาคเลือดด้วย
ผู้บริจาคเลือดที่อายุมากกว่า 65 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี
ผู้บริจาคเลือดที่อายุมากกว่า 65 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปีจะต้องเป็นผู้ที่บริจาคเลือดอย่างสม่ำเสมอในช่วงอายุ 60–65 ปี และต้องตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (Complete Blood Count: CBC) ก่อนบริจาคเลือดทุกครั้ง รวมถึงควรตรวจปริมาณธาตุเหล็กในเลือด (Serum Ferritin) ผลเคมีของเลือด (Blood Chemistry) และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปีละ 1 ครั้ง ก่อนการบริจาคเลือดด้วย
ข้อห้ามในการบริจาคเลือด
ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ไม่ควรบริจาคเลือด เพราะเลือดที่ได้จะไม่สามารถใช้ได้ และอาจส่งผลเสียต่อร่างกายของผู้บริจาคเองด้วย โดยผู้ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
- ผู้ที่มีปริมาณของฮีโมโกลบินไม่เพียงพอ
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์
- ผู้ที่เพิ่งกลับมาจากการเดินทางไปต่างประเทศ
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงหรือต่ำผิดปกติ
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการรับประทานยารักษาอาการ
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคไวรัสตับอักเสบซี หรือโรคมะเร็ง
- ผู้ที่มีการใช้เข็มฉีดยา เจาะร่างกาย หรือสักภายในระยะเวลา 1 ปี
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด โรคเบาหวาน หรือโรคไทรอยด์ อาจสามารถบริจาคเลือดได้ในบางกรณี แต่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเงื่อนไขในการบริจาคเลือดก่อน ซึ่งเงื่อนไขในการบริจาคเลือดอาจขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่รับบริจาค
ขั้นตอนการบริจาคเลือด
โดยทั่วไปแล้วสามารถบริจาคเลือดได้ที่หน่วยบริจาคเลือดตามสถานพยาบาลและหน่วยเคลื่อนที่ของสภากาชาดไทย โดยจะมีขั้นตอนในการบริจาคเลือด ดังนี้
1. กรอกแบบฟอร์มผู้บริจาคเลือด
ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคเลือดจะต้องกรอกข้อมูลตามความจริงเพื่อให้เลือดที่บริจาคมีคุณภาพ ปลอดภัยช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริจาคต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริจาคเลือด และช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย เมื่อกรอกข้อมูลแล้วเจ้าหน้าที่จะนำน้ำหนักของผู้บริจาคมาคำนวณหาปริมาณเลือดที่สามารถบริจาคได้ โดยมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 45 กิโลกรัม ไม่สามารถบริจาคเลือดได้
- ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 45–50 กิโลกรัม สามารถบริจาคเลือดได้ 350 มิลลิลิตร
- ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป สามารถบริจาคเลือดได้ 450 มิลลิลิตร
2. ตรวจสุขภาพและซักประวัติ
แพทย์จะทำการตรวจสุขภาพ เช่น วัดความดันโลหิต หรือตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ซักประวัติทางด้านสุขภาพ และถามคำถามที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ค่อนข้างเป็นการส่วนตัว เพื่อช่วยให้สามารถคัดกรองผู้บริจาคอย่างมีประสิทธิภาพ ในขั้นตอนนี้ผู้บริจาคจะต้องตอบตามความจริง และไม่เขินอายที่จะตอบคำถาม
3. บริจาคเลือด
เมื่อผ่านการคัดกรองว่าสามารถบริจาคเลือดได้ ผู้บริจาคจะถูกพาไปนั่งที่เตียงสำหรับบริจาคเลือด และพยาบาลจะนำสายรัดมารัดที่บริเวณต้นแขนส่วนบนเพื่อกักการไหลของเลือดในเส้นเลือดดำ เพื่อสามารถเจาะเลือดได้ง่ายและทำให้เลือดไหลเข้าถุงได้เร็วขึ้น จากนั้นจะทำการสอดเข็มเข้าไปในเส้นเลือดดำบริเวณแขนและปล่อยให้เลือดไหลเข้าสู่ถุงที่เตรียมไว้
ในขณะที่บริจาคเลือดพยาบาลอาจนำลูกบอลยางหรืออุปกรณ์ให้ผู้บริจาคบีบและคลายเป็นระยะ เพื่อช่วยให้เลือดไหลเข้าถุงใส่เลือดได้เร็วขึ้น การบริจาคเลือดจะใช้เวลาประมาณ 10 นาที เมื่อได้ปริมาณเลือดตามที่กำหนดไว้แล้วก็จะเอาเข็มออก ทำการห้ามเลือด ปิดปากแผลด้วยพลาสเตอร์ และให้ผู้บริจาคนอนพักสักครู่ จึงให้ลุกจากเตียง
ส่วนการบริจาคส่วนประกอบอื่น ๆ ของเลือด เช่น เกล็ดเลือด พยาบาลจะใช้อุปกรณ์พิเศษที่สามารถกรองเลือดและหมุนเวียนเลือดกลับเข้าสู่ร่างกายได้ โดยจะใช้เวลานานกว่าการบริจาคเลือดทั่วไปประมาณ 1–2 ชั่วโมง
เมื่อหน่วยบริจาคเลือดได้รับเลือดของผู้บริจาคแล้ว ก็จะนำตัวอย่างของเลือดไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อความผิดปกติของเลือด เช่น การปนเปื้อนของเชื้อโรคร้ายแรง หรือหากตรวจพบว่าเป็นเลือดของผู้ป่วยโรครุนแรง เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส หรือโรคไวรัสตับอักเสบ เลือดถุงนั้นจะถูกยกเลิกและทางหน่วยบริจาคเลือดจะทำการแจ้งให้ผู้บริจาคเลือดทราบต่อไป
การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือด
การเตรียมตัวก่อนบริจาคเลือดเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ เพราะการเตรียมตัวที่พร้อมจะช่วยให้คุณภาพของเลือดที่บริจาคเป็นไปตามที่กำหนดไว้ และช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้บริจาคเลือด โดยในเบื้องต้นควรเตรียมตัวดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมงในเวลานอนปกติก่อนวันบริจาค
- รับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนการบริจาคเลือด และควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารที่มีไขมันสูงจะทำให้พลาสมามีมีสีขาวขุ่น และไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณสารน้ำในร่างกายและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังการบริจาคเลือด
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนบริจาคเลือด
- งดสูบบุหรี่ ทั้งก่อนและหลังบริจาคเลือดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดสามารถฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- สวมใส่เสื้อผ้าที่แขนเสื้อไม่รัดมากจนเกินไป และสามารถพับหรือดึงแขนเสื้อขึ้นมาเหนือข้อศอกได้อย่างน้อย 3 นิ้ว
- หยุดรับประทานยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ อย่างน้อย 3 วันก่อนบริจาคเลือด
- หยุดรับประทานยาแก้อักเสบหรือยาอื่น ๆ อย่างน้อย 7 วันก่อนบริจาคเลือด
การดูแลตัวเองหลังจากบริจาคเลือด
เมื่อบริจาคเลือดเสร็จแล้วควรนั่งพักประมาณ 10–15 นาที โดยอาจรับประทานอาหารว่างหรือดื่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของแร่ธาตุ ซึ่งจะเป็นเครื่องดื่มที่มีแร่ธาตุละลายในน้ำ อย่างโซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมน้ำได้ดี เมื่อร่างกายปรับสภาพได้แล้วจึงค่อยกลับบ้าน
หากมีอาการคล้ายจะเป็นลม หรือรู้สึกผิดปกติ ควรนั่งให้ศีรษะต่ำหรือนอนราบยกเท้าให้สูงกว่าศีรษะ หากหลังจากบริจาคเลือดเสร็จแล้วยังมีเลือดซึมออกมาที่ผ้าปิดแผล ให้ใช้นิ้วมือกดลงที่ผ้าปิดแผลและยกแขนสูงไว้ประมาณ 3–5 นาที หากเลือดยังไม่หยุดไหลให้กลับไปปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลที่หน่วยบริจาคเลือดเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้ ผู้บริจาคจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเป็นพิเศษหลังบริจาคเลือด โดยควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในร่างกาย
- รับประทานอาหารอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง และมีสารอาหารครบถ้วน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเสียเหงื่อในปริมาณมาก เช่น การอบซาวน่า การออกกำลังกาย
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงในแขนข้างที่ทำการเจาะเลือดในช่วง 24 ชั่วโมงหลังบริจาคเลือด เช่น การหิ้วของหนัก
- ผู้ที่ต้องทำงานกับเครื่องจักร งานที่ต้องปีนป่ายที่สูง หรืองานที่เสี่ยงอันตราย ควรหยุดพักอย่างน้อย 1 วัน
- รับประทานธาตุเหล็กที่ได้รับจากหน่วยบริจาคเลือดวันละ 1 เม็ดเพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็กติดต่อกัน โดยรับประทานจนกว่าจะหมด
การบริจาคเลือดมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากหากร่างกายของผู้บริจาคไม่มีความพร้อม เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยบริจาคจะไม่อนุญาตให้บริจาคเลือดโดยเด็ดขาด จึงทำให้ไม่ค่อยพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหลังจากการบริจาคเลือด นอกจากนี้ ยังไม่พบการติดเชื้อจากการบริจาคเลือด เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อและไม่มีการนำกลับมาใช้ซ้ำ เพื่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริจาคเลือด