การบำรุงเล็บอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้เล็บดูสวยงามและมีสุขภาพดีแล้ว ยังถือเป็นการรักษาความสะอาด และช่วยป้องกันการสะสมของสิ่งสกปรกหรือการติดเชื้อโรคในเล็บอีกด้วย เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น การเจริญเติบโตของเล็บจะช้าลง และเริ่มเปราะง่าย การใส่ใจดูแลเล็บตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้เรามีเล็บที่สุขภาพดีได้ยาวนาน
เล็บของคนเราประกอบด้วยส่วนของแผ่นเล็บที่มีความแข็ง ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่เรียกว่าเคราติน (Keratin) งอกออกมาจากบริเวณผิวบางๆ ที่โคนเล็บ (Cuticle) เล็บที่มีสุขภาพดีจะมีลักษณะเงาใส ผิวเรียบ ไม่มีการฉีกหรือเปราะ เนื้อบริเวณใต้เล็บมีสีชมพูอ่อน และส่วนของเล็บที่ยาวออกไปมีสีขาวขุ่น ทั้งนี้ การบำรุงเล็บให้มีสุขภาพดีไม่ใช่เรื่องยาก เทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้คุณบำรุงเล็บให้เงางามและแข็งแรงได้ทุกวัน
บำวิธีบำรุงเล็บง่าย ๆ ทำได้ทุกวัน
นอกจากการทำความสะอาดและดูแลผิวกาย ผิวหน้า หรือเส้นผมแล้ว เล็บก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ควรได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ด้วย 3 วิธีการง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1. รักษาความสะอาดของเล็บ
ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำอุ่น เพื่อกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อยู่บนมือและเล็บ ในการล้างมือทุกครั้ง ควรถูสบู่บริเวณฝ่ามือ หลังมือ ง่ามนิ้ว และซอกเล็บ หากเล็บมีคราบสกปรก อาจใช้ผ้าขนหนูหรือแปรงขัดเล็บช่วยในการทำความสะอาดในบริเวณที่เข้าถึงยาก เช่น ใต้เล็บหรือหนังบริเวณโคนเล็บ หลังล้างมือทุกครั้ง ควรเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาดหรือกระดาษชำระสำหรับเช็ดมือ
2. ตัดเล็บมือและเล็บเท้าให้สั้นอยู่เสมอ
การปล่อยให้เล็บยาวเกินไปอาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรค และทำให้เล็บเปราะหักได้ง่าย โดยใช้กรรไกรตัดเล็บค่อย ๆ ตัดเล็บเฉพาะส่วนสีขาวที่ยาวเกินออกมาจากปลายนิ้ว ตัดเป็นแนวตรงและเล็มเป็นแนวโค้งเล็กน้อยบริเวณมุมเล็บทั้งสองข้าง ไม่ควรตัดเล็บสั้นเกินไป เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการเกิดเล็บขบได้
3. ทาครีมบำรุงผิวอย่างสม่ำเสมอ
ครีมบำรุงผิวชนิดครีมหรือชนิดขี้ผึ้งจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมือ เล็บ และหนังบริเวณโคนเล็บ โดยอาจเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของลาโนลิน (Lanolin) วิตามินอี น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันอัลมอนด์ ที่ช่วยให้ทำให้ผิวไม่แห้งลอก และทำให้เล็บมีสุขภาพดียิ่งขึ้น
เทคนิคบำรุงเล็บเพื่อเล็บสุขภาพดี
นอกจากการดูแลความสะอาดของเล็บในทุก ๆ วันแล้ว การบำรุงเล็บด้วยวิธีการเหล่านี้ อาจช่วยเพิ่มความแข็งแรงของเล็บ และช่วยให้เล็บเงางาม มีสุขภาพดีในระยะยาวได้
- หลีกเลี่ยงการกัดเล็บ ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ ถูกทำลาย เชื้อโรคจึงเข้าสู่ผิวหนังได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูงขึ้น นอกจากนี้ หากมือของเราสกปรก เชื้อโรคในเล็บยังอาจเข้าสู่ช่องปาก และทำให้ร่างกายได้รับเชื้อโรคได้เช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการตัดหนังบริเวณโคนเล็บ เนื่องจากทำให้เกิดช่องเปิดระหว่างเล็บและโคนเล็บ ซึ่งทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ผิวหนังและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย หรือเกิดความผิดปกติของเล็บ เช่น เล็บเป็นคลื่น (Nail Ridges) และเกิดจุดขาวบนเล็บได้
- หากมีเล็บฉีก ไม่ควรกัดเล็บหรือดึงเล็บให้ขาด เพราะอาจทำให้เกิดแผลได้ ควรใช้กรรไกรตัดเล็บที่สะอาดตัดเล็มบริเวณที่ฉีกออก
- ไม่ใช้เล็บแงะหรือแกะสิ่งของ อย่างการเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม เพราะอาจทำให้เล็บหักได้
- สวมถุงมือทุกครั้งเพื่อป้องกันเล็บและมือขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เมื่อทำงานบ้านหรือทำสวน
- สวมรองเท้าที่พอดีและเหมาะสมกับรูปเท้า ไม่คับหรือบีบหน้าเท้าจนเกินไป
- สวมรองเท้าทุกครั้งเมื่อออกไปนอกบ้าน หรือเมื่อเดินในบริเวณสระว่ายน้ำหรือห้องอาบน้ำสาธารณะ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีวิตามินบี 7 หรือไบโอติน (Biotin) วิตามินบี 12 โอเมก้า 3 โปรตีน ธาตุเหล็ก และซิงค์ (Zinc) สูง เช่น เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถั่ว ธัญพืชชนิดไม่ขัดสี นม ไข่ ผักใบเขียว และผลไม้ ซึ่งมีส่วนช่วยบำรุงเล็บให้แข็งแรงขึ้นได้
การทำเล็บ ความสวยงามที่ต้องระวัง
การทำเล็บเพื่อความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการการใช้ยาทาเล็บ การทำเล็บเจล หรือการต่อเล็บด้วยวัสดุอะคริลิกที่ร้านทำเล็บนั้นสามารถทำได้ เพียงแต่ไม่ควรทำบ่อยจนเกินไป เนื่องจากการใช้สารเคมีกับเล็บเป็นประจำอาจทำให้เล็บลอก เปราะหักง่าย มีโอกาสติดเชื้อบริเวณหน้าเล็บ หรือเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การทำเล็บมีข้อควรรู้ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- เลือกใช้น้ำยาล้างเล็บชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของอะซีโตน (Acetone) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เล็บลอกและเปราะง่าย
- ในกรณีที่ต้องการทาเล็บสีสดใส เช่น สีแดง หรือสีส้ม ควรทาน้ำยาเคลือบเล็บ (Base Coat) เพื่อป้องกันเล็บเหลืองจากสารเคมีในน้ำยาทาเล็บ
- การทำเล็บเจลมีขั้นตอนที่ใช้เครื่องอบเจลด้วยรังสียูวีเพื่อให้สีที่ทาติดอยู่บนเล็บของเรา จึงควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 ขึ้นไปที่บริเวณมือก่อนการทำเล็บเจล เพื่อป้องกันรังสียูวีทำลายผิว
- ไม่ควรพยายามแกะเล็บเจลออกด้วยตัวเอง แต่ควรติดต่อร้านทำเล็บให้เอาออกให้
- หลีกเลี่ยงการต่อเล็บปลอม โดยเฉพาะการต่อเล็บอะคริลิกที่มีขั้นตอนการตะไบหน้าเล็บเพื่อให้พื้นผิวเล็บหยาบ และทำให้เล็บปลอมไม่เลื่อนหลุดง่ายหลังการติด ซึ่งจะทำให้เล็บของเราบางลงและอ่อนแอมากขึ้น นอกจากนี้ การต่อเล็บอะคริลิกยังใช้น้ำยาที่อาจทำให้ผิวหนังบริเวณนิ้วมือแสบร้อนหรือระคายเคืองได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการต่อเล็บปลอมหากไม่จำเป็น
- ไม่ควรทำเล็บเพื่อปกปิดปัญหาหรืออาการผิดปกติของเล็บ โดยเฉพาะผู้มีปัญหาเล็บเปราะหรือมีการติดเชื้อบนเล็บ เพราะอาจยิ่งทำให้อาการแย่ลงได้
- เลือกร้านทำเล็บที่มีการจดทะเบียน รวมทั้งเลือกช่างทำเล็บที่ผ่านการอบรมและมีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง นอกจากนี้บริเวณร้านและอุปกรณ์ที่ใช้ทำเล็บควรผ่านการทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม
การดูแลเล็บมือและเล็บเท้าเป็นประจำจะทำให้เล็บของเราสะอาดและมีสุขภาพดี โดยเฉพาะเล็บที่ผ่านการบำรุงเป็นอย่างดีจะยิ่งสร้างความมั่นใจให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากสังเกตเห็นความผิดปกติใด ๆ ของเล็บ เช่น รูปทรงหรือสีของเล็บผิดปกติ เล็บบวมแดง รู้สึกเจ็บ หรือมีเลือดออกบริเวณเล็บ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง หรืออาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวานได้