เทียนหอม ผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางการใช้ให้ปลอดภัย

ในปัจจุบันเทียนหอมได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยให้บรรยากาศในบ้านอบอุ่นขึ้น อีกทั้งกลิ่นหอมจากการจุดเทียนหอมยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วย และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้เทียนหอมมีข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพหลายประการ

เทียนหอมที่วางขายทั่วไปมีหลายประเภท โดยนิยมใช้มักผสมน้ำมันที่สกัดจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ดอก เมล็ด ใบ และเปลือกไม้ เพื่อใช้บำบัดรักษาโรค หรือที่เรียกว่าอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) รวมทั้งสารจากธรรมชาติและสังเคราะห์อื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของไส้เทียนและเนื้อเทียน การเลือกซื้อเทียนหอมและการใช้อย่างถูกต้องจะทำให้ได้รับประโยชน์ต่อสุขภาพและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้

เทียนหอม ผลกระทบต่อสุขภาพและแนวทางการใช้ให้ปลอดภัย

ประโยชน์ของเทียนหอม

ในน้ำหอมระเหยประกอบด้วยโมเลกุลขนาดเล็กที่สามารถจับกับโปรตีนที่อยู่ในโพรงจมูก ซึ่งจะส่งสัญญาณไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนลิมบิก (Limbic) ที่ควบคุมอารมณ์ความคิด และความจำ จึงเป็นเหตุผลที่กลิ่นหอมมีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของคนเราโดยตรง และยังส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทและการทำงานของหัวใจด้วย

โดยทั่วไป เทียนหอมมักมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย (Essential Oils) ที่สกัดจากพืชหลายชนิด ซึ่งน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีประโยชน์ต่อสุขภาพต่างกัน พืชที่นิยมนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย มีดังนี้

  • ลาเวนเดอร์ (Lavender) ช่วยลดความเครียด และช่วยให้หลับสนิท
  • กุหลาบ ช่วยลดความวิตกกังวลและทำให้อารมณ์ดีขึ้น
  • มะลิ ช่วยผ่อนคลาย และบรรเทาอาการซึมเศร้า
  • เปปเปอร์มินต์ (Peppermint) ช่วยให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า กระตุ้นความจำ และบรรเทาอาการปวดหัว
  • กระดังงา (Ylang-Ylang) บรรเทาอาการปวดหัว และคลื่นไส้
  • คาโมมายล์ (Chamomile) ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยในการนอนหลับ
  • ไม้จันทน์ (Sandalwood) บรรเทาความเครียดและวิตกกังวล ช่วยให้มีสมาธิ

อันตรายจากการใช้เทียนหอม

เทียนหอมประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือไส้เทียน เนื้อเทียน และน้ำมันหอมระเหยที่ใส่ในเนื้อเทียน ซึ่งแต่ละส่วนประกอบด้วยสารต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้

ไส้เทียน (Candle Wicks)

ไส้เทียนเป็นส่วนที่อยู่ตรงกลางเนื้อเทียน ทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้เทียนจุดติด และเป็นตัวดูดซับเนื้อเทียนที่ละลายหลังจุดไฟเพื่อให้การเผาไหม้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

ไส้เทียนมักทำจากเส้นด้ายฟั่นเป็นเกลียว และในอดีตมีการใส่สารตะกั่วในไส้เทียน เพื่อให้ไส้เทียนยังสามารถคงรูปและตั้งตรงได้หลังจากเนื้อเทียนเริ่มละลาย การสูดดมควันเทียนที่มีสารตะกั่วอาจทำให้ปวดท้อง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย มีปัญหาด้านความจำเกิดภาวะโลหิตจาง แท้งบุตร และเด็กอาจมีพัฒนาการช้า หลายประเทศจึงออกกฎห้ามใช้สารตะกั่วในการผลิตไส้เทียน

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการทำเทียนไขอาจใช้สารอื่นทดแทนตะกั่ว เช่น สังกะสีและดีบุก ซึ่งไม่มีความเป็นพิษเหมือนสารตะกั่ว แต่การสูดดมควันเทียนที่มีสารเหล่านี้เป็นเวลานานอาจสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

เนื้อเทียน (Candle Wax)

เนื้อเทียนมักมีส่วนผสมของไขมัน น้ำมัน และสารที่มีลักษณะเป็นไข ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

  • ไขมันธรรมชาติ เช่น ขี้ผึ้ง (Bee Wax) ซึ่งเป็นสารที่ผึ้งขับออกมาเพื่อใช้สร้างหรือซ่อมแซมรังผึ้ง หรือสารสกัดจากไขมันพืช เช่น ถั่วเหลือง มะพร้าว และปาล์ม
  • สารสังเคราะห์ เช่น พาราฟิน (Paraffin Wax) ซึ่งนิยมใช้ในปัจจุบัน ได้จากการกลั่นแยกน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ

ผลการวิจัยหนึ่งพบว่า การเผาไหม้เทียนที่ทำจากพาราฟินทำให้เกิดสารเคมี เช่น โทลูอีน (Toluene) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย แม้จะยังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าสารเคมีในเนื้อเทียนทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างไร แต่พบว่าการใช้เทียนหอมที่เนื้อเทียนทำจากสารธรรมชาติจะปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาน้อยกว่า

น้ำมันหอมระเหยและกลิ่นสังเคราะห์

การจุดเทียนจะทำให้เกิดเขม่า ซึ่งประกอบด้วยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหากสูดดมในปริมาณมาก ซึ่งสารที่พบในเขม่าเทียน มีดังนี้

  • โทลูอีน (Toluene) การได้รับสารนี้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา จมูก ลำคอ และอาจทำให้ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน และวิตกกังวล
  • เบนซิน (Benzene) เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งระบบเลือดประเภทอื่น ๆ
  • ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ การจุดเทียนหอมทำให้เกิดเขม่ามากกว่าเทียนไขทั่วไป เนื่องจากการใส่น้ำมันหอมระเหยในเนื้อเทียนทำให้เกิดเขม่ามากเมื่อเผาไหม้ นอกจากนี้ การใส่น้ำมันหอมระเหยปริมาณมากจะทำให้เนื้อเทียนอ่อนนุ่มและยิ่งเกิดเขม่ามากกว่าเทียนปกติที่ไม่มีกลิ่นหอม หากสูดดมในปริมาณมากอาจรบกวนการทำงานของระบบทางเดินหายใจ

คนที่ไม่ควรใช้เทียนหอม

คนทั่วไปที่ไม่มีโรคทางเดินหายใจสามารถใช้เทียนหอมได้ตามปกติ โดยมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่คนที่มีปัญหาสุขภาพบางกลุ่มควรหลีกเลี่ยงการใช้เทียนหอม เช่น

  • คนที่ไวต่อกลิ่นน้ำหอม (Fragrance Sensitivity) การจุดเทียนหอมอาจทำให้เกิดอาการปวดหัว และปวดไมเกรนได้
  • คนที่มีโรคภูมิแพ้และโรคหืด กลิ่นของเทียนหอมและพาราฟินในเนื้อเทียนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้และโรคหืด เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกและน้ำตาไหล มีผื่นขึ้น และแน่นหน้าอก
  • ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และโรคหัวใจ

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการจุดเทียนหอมในบริเวณที่สัตว์เลี้ยงอยู่ เพราะสัตว์เลี้ยงอาจมีปฏิกิริยาต่อกลิ่นได้ไวกว่ามนุษย์ และอาจได้รับสารเคมีที่เป็นอันตรายได้ โดยอาจสังเกตอาการของสัตว์ที่มีอาการแพ้เทียนหอม เช่น จาม น้ำมูกไหล ตาแดง น้ำตาไหล และใช้อุ้งเท้าถูหน้าบ่อย ๆ

ข้อแนะนำในการจุดเทียนหอมให้ปลอดภัย

การจุดเทียนหอมอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • เลือกซื้อเทียนหอมที่มีคุณภาพ เทียนหอมคุณภาพต่ำมักปล่อยสารเคมีและเขม่าที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่า และไม่ควรซื้อเทียนหอมที่มีส่วนผสมของพาราฟินและสีสังเคราะห์ ควรเลือกเทียนหอมที่มีเนื้อเทียนจากสารธรรมชาติ เช่น ขี้ผึ้ง ไขถั่วเหลือง ไขมันมะพร้าว
  • เลือกเทียนหอมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติแทนน้ำหอมสังเคราะห์
  • ก่อนจุดเทียน ควรตัดไส้เทียนออกประมาณ 1/4 นิ้ว เพื่อลดการเกิดเขม่า
  • จุดเทียนในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยเปิดหน้าต่างให้ควันเทียนระบายออกจากห้อง แต่ควรระวังและไม่วางเทียนใกล้หน้าต่างเกินไปจนเทียนดับ
  • เมื่อต้องการดับเทียน ไม่ควรเป่าหรือพัดให้เทียนดับ เพราะควันเทียนจะฟุ้งกระจาย ควรใช้แท่งกดไส้เทียน (Wick Dipper) กดไส้เทียนให้จมลงไปในน้ำตาเทียนจนเปลวไฟดับ วิธีนี้จะช่วยไม่ให้เกิดควันและเขม่าเทียน
  • ไม่จุดเทียนนานเกิน 4 ชั่วโมง และไม่จุดเทียนทิ้งไว้ขณะที่ตนเองไม่อยู่ และไม่จุดเทียนขณะนอนหลับ เพื่อป้องกันการสูดดมเขม่าควันมากเกินไป รวมทั้งป้องกันการเกิดเพลิงไหม้

เทียนหอมช่วยสร้างบรรยากาศอบอุ่นและผ่อนคลายในวันที่เครียดและเหนื่อยล้าได้ดี ทั้งนี้  กรณีที่จุดเทียนหอมแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล และหายใจไม่ออก ควรหยุดใช้เทียนและไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษา