แม้ว่าสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นตามลำดับ แต่หลายคนอาจยังกังวลเมื่อจู่ ๆ ก็เกิดอาการป่วยในช่วงนี้ จึงต้องการหาวิธีตรวจสอบว่าตนเองติดเชื้อโควิดหรือไม่ บางคนอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับชุดตรวจโควิด-19 หรือ Rapid Test ในต่างประเทศ ที่สามารถตรวจด้วยตนเอง ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้แม้ว่าจะสะดวก แต่อาจไม่สามารถยืนยันถึงการติดเชื้อชนิดนี้ได้
Rapid Test เป็นการตรวจหาสารแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ โดย Rapid Test อาจใช้เวลาในการแสดงผลเพียงไม่กี่นาทีไปถึงหลักชั่วโมง แต่การตรวจด้วยวิธีนี้ไม่ใช่ขั้นตอนหลักในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 อีกทั้งการจำหน่ายชุดตรวจรูปแบบนี้ในประเทศไทยยังขัดต่อกฎหมายอีกด้วย เพราะการตรวจจำเป็นต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำที่สุด
ชุดตรวจโควิด-19 แบบ Rapid Test ยืนยันการติดเชื้อได้จริงไหม ?
สิ่งแรกที่ควรทราบ คือ ความสัมพันธ์ของการติดเชื้อและระบบภูมิคุ้มกัน ระบบภูมิคุ้มกันนั้นมีหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม อย่างเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย สารก่อภูมิแพ้ หรือสารเคมี ในกรณีที่ร่างกายติดเชื้อ ไม่ว่าจะจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อชนิดอื่น ระบบภูมิคุ้มกันจะหลั่งสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีออกมาเพื่อดักจับและทำลายเชื้อเหล่านั้น
ชุดตรวจในรูปแบบ Rapid Test นั้นจะใช้สำหรับหาสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดการติดเชื้อ โดยเครื่องมือการตรวจนี้อาจใช้ตรวจหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อย 5 วัน เพื่อหาสารภูมิต้านทานชนิด M (Immunoglobulin M: IgM) หรือหลังมีอาการป่วย 10 วัน เพื่อหาสารภูมิต้านทานชนิด G (Immunoglobulin G: IgG)
แม้ว่าการตรวจด้วยวิธี Rapid Test จะช่วยบอกถึงการติดเชื้อภายในร่างกาย แต่การตรวจนี้ไม่สามารถระบุถึงเชื้อที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้ เชื้อที่เป็นต้นตอของโรคอาจเป็นเชื้อหวัด เชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือเชื้อชนิดอื่นก็ได้ ดังนั้น การตรวจด้วยวิธี Rapid Test จึงไม่สามารถยืนยันถึงการติดเชื้อโควิด-19 ได้ แม้จะมีผลการตรวจออกมาเป็นบวก (Positive) ก็ตาม นอกจากนี้ การตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 หรือ Rapid Test จำเป็นต้องดำเนินการและแปลผลโดยบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ผลตรวจออกมาคลาดเคลื่อนน้อยที่สุดและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากการตรวจ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุดตรวจนี้จะไม่สามารถระบุเชื้อที่ติดได้ แต่อย่างน้อยก็อาจบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย จึงเหมาะสำหรับการใช้คัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น ซึ่งหากผลการตรวจออกมาเป็นบวกที่แสดงถึงการติดเชื้อ แพทย์ก็อาจตรวจด้วยวิธีที่ละเอียดมากขึ้น อย่างการตรวจเลือดแบบอีไลซา (ELISA) และการตรวจของเหลวภายในลำคอหรือจมูกเพื่อหาเชื้อ (Swab Test) ที่ถูกออกแบบมาสำหรับการตรวจหาการติดเชื้อโดยเฉพาะ ซึ่งมีความไวและให้ผลแม่นยำกว่า ร่วมกับการซักประวัติการเจ็บป่วย พฤติกรรมหรือประวัติอื่น ๆ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ข้อควรรู้เกี่ยวกับชุดตรวจโควิด-19
ชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Test มีข้อจำกัดในการตรวจหาเชื้อ ดังนี้
- ชุดตรวจ Rapid Test ไม่สามารถยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ และไม่ใช่วิธีหลักในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 รวมทั้งโรคอื่น ๆ โดยแพทย์อาจใช้ในบางกรณีเท่านั้น ส่วนใหญ่มักใช้ในการศึกษาทดลองหรือใช้เพื่อคัดกรองผู้ป่วยในประเทศที่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีมาตรฐานได้
- การจำหน่ายหรือครอบครองชุดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี Rapid Test โดยไม่ใช่สถานพยาบาลเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
- ผลการตรวจอาจคลาดเคลื่อนได้ การศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่าผลลัพธ์จาก Rapid Test อาจคลาดเคลื่อนโดยให้ผลเป็นลบ (Negative) ในภาวะที่มีการติดเชื้อหรือทำให้เกิดผลลบลวง (False Negative) ได้ จึงอาจเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการตรวจไม่ได้ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์
- การตรวจด้วยวิธี Rapid Test เป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น และจำเป็นต้องตรวจด้วยวิธีการอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการติดเชื้อและระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค
- การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี Rapid Test จำเป็นต้องทำในระยะเวลาที่กำหนด คือ 5-14 วัน หลังจากการได้รับเชื้อ
เพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และโรคติดเชื้ออื่น ๆ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนเยอะ เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน ล้างมือเป็นประจำอย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่มีอาการป่วย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเป็นไข้ ไอ หายใจลำบากติดต่อกันหลายวัน ควรสวมหน้ากากอนามัยและไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างเหมาะสม