ลมพิษเป็นอาการทางผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผื่นนูนแดงร่วมกับอาการคัน โดยอาการนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งบางสาเหตุอาจส่งผลให้บางคนมักเกิดอาการในช่วงกลางคืนจนรบกวนการนอนหลับได้ การเรียนรู้ว่าเป็นลมพิษตอนกลางคืนเกิดจากอะไร และวิธีรับมือกับอาการนี้ติดตัวเอาไว้จึงเป็นสิ่งที่อาจช่วยให้เรารับมือได้ดีขึ้น
ลมพิษเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผิวหนังทุกส่วนของร่างกาย โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้หลายแบบ บางคนอาจพบว่าอาการหายไปได้เองในเวลา 1–2 วัน หรืออาจนานกว่านั้น แต่มักไม่เกิน 6 สัปดาห์ ในขณะที่บางคนอาจพบว่าอาการมักเกิดแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างเรื้อรังนานติดต่อกันเกิน 6 สัปดาห์
เป็นลมพิษตอนกลางคืนเกิดจากอะไรได้บ้าง
ก่อนจะไปดูว่า เป็นลมพิษตอนกลางคืนเกิดจากอะไร มาดูกันก่อนดีกว่าว่า มีปัจจัยอะไรบ้างที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดลมพิษ
อาการลมพิษเป็นผลมาจากการที่ร่างกายผลิตสารฮิสตามีน (Histamine) เข้าไปในกระแสเลือด โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดกลไกนี้ก็เช่น
- อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาบางชนิด ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยที่มักพบได้ก็เช่น ถั่ว อาหารทะเล ไข่ เครื่องปรุงรสบางชนิด สารกันบูด ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยาปฏิชีวนะ
- สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ฝุ่น ควัน เชื้อรา หรือเห็บหมัด
- ความร้อนหรือความเย็น
- การถูกแมลงกัดต่อย
- การออกกำลังกาย
- ความเครียด
- ผิวหนังได้รับแรงกดทับนาน ๆ เช่น การสวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่น หรือการสวมเข็มขัด
- การติดเชื้อโรค
- โรคบางชนิด เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) โรคไทรอยด์ หรือมะเร็งบางชนิด
อาการลมพิษยังสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน อีกทั้งในบางกรณีก็อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้
ส่วนสาเหตุของการเป็นลมพิษตอนกลางคืน จริง ๆ แล้ว สาเหตุการเกิดลมพิษตอนกลางคืนก็เหมือนกับการเกิดลมพิษทั่ว ๆ ไป แต่ที่อาการไปเกิดตอนกลางคืนก็อาจจะเป็นผลมาจากการที่ร่างกายได้รับปัจจัยกระตุ้นในช่วงเย็น ช่วงค่ำ หรือช่วงเข้านอนเท่านั้น เช่น
- อากาศที่เย็นลงในช่วงกลางคืน
- การรับประทานอาหารหรือยาที่อาจเป็นสาเหตุในช่วงเย็นหรือช่วงค่ำ
- การอาบน้ำร้อน
- การออกกำลังกายในช่วงกลางคืน
- สารทำความสะอาดบางชนิดที่ตกค้างอยู่ในชุดนอนหรือผ้าปูที่นอน
- ความเครียด
- การอยู่ในสถานที่ที่มีสารก่อภูมิแพ้มาก
วิธีรับมือกับลมพิษตอนกลางคืน
ในเบื้องต้น ผู้ที่มีอาการลมพิษตอนกลางคืนอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการ
- หลีกเลี่ยงการเกา เนื่องจากการเกาอาจยิ่งส่งผลให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง
- พยายามสังเกตตัวเองว่าตัวกระตุ้นอะไรที่มักส่งผลให้เกิดอาการ
- หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่มักส่งผลให้มีอาการลมพิษ แต่หากเห็นว่ายาที่รับประทานเป็นประจำอาจเป็นสาเหตุ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อน
- รับประทานยาแก้แพ้ หรือทายาคาลาไมน์ แต่ก่อนใช้ให้ปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรืออ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อน เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
- ประคบเย็นบริเวณที่เกิดอาการ
- พยายามอาบน้ำที่ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หลีกเลี่ยงการขัดถูผิวหนังอย่างรุนแรง และเลือกใช้สบู่ที่ไม่ผสมสารแต่งกลิ่นหรือน้ำหอม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป และเลือกเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าฝ้าย
- ทาครีมเพิ่มความชุ่มชื้น (Moisturizer) เพื่อป้องกันผิวแห้ง
- ทาครีมกันแดดก่อนออกนอกที่พักอาศัยอย่างน้อย 30 นาที
- พยายามควบคุมความเครียด
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอทราบแล้วว่า เป็นลมพิษตอนกลางคืนเกิดจากอะไร และควรรับมืออย่างไรให้เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม วิธีการรับมือในข้างต้นก็เป็นเพียงวิธีที่ใช้รับมือด้วยตัวเองในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น ผู้ที่เห็นว่าอาการลมพิษไม่ดีขึ้น เริ่มมีความรุนแรง อาการเกิดติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เวียนศีรษะ หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ปวดท้อง หรือมีอาการบวมที่ปาก คอ และลิ้น