เมล็ดฟักทองกับคุณประโยชน์ที่มากกว่าอาหารว่าง

นอกจากเนื้อสีเหลืองของฟักทองที่มากคุณค่าและความอร่อย สามารถนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน เมล็ดฟักทองยังนิยมรับประทานเป็นอาหารว่างเคี้ยวเพลิน หรือจะนำมาสกัดเป็นน้ำมันจากเมล็ดฟักทองก็ได้ ด้านคุณค่าทางสารอาหารนั้นอุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ วิตามินบี3 โปรตีน แคลเซียม ธาตุเหล็ก สังกะสี เส้นใยอาหาร และมีคอเลสเตอรอลเป็นศูนย์

เมล็ดฟักทอง

นอกจากนี้ ยังคาดว่าสารบางชนิดภายในเมล็ดฟักทองอาจมีสรรพคุณเพิ่มการขับปัสสาวะ ดีต่อผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะลำบาก รวมทั้งสารที่อาจช่วยฆ่าพยาธิในลำไส้ได้ และมีการนำมารับประทานในฐานะอาหารทางเลือกเพื่อการรักษาโรคไต ต่อมลูกหมากโต โรคระบบทางเดินปัสสาวะ และอื่น ๆ อีกมาก

แม้ภายในฟักทองหรือเมล็ดฟักทองจะมีสารอาหารทรงคุณค่า ที่น่าจะส่งผลดีในการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพ แต่การวิจัยโดยทดลองใช้จริงกับมนุษย์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยืนยันว่าทฤษฏีเหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของเมล็ดฟักทองที่มีการกล่าวไว้ในปัจจุบัน มีตัวอย่างดังนี้

รักษาโรคต่อมลูกหมากโต

เมล็ดฟักทองอุดมด้วยสังกะสีที่คาดว่ามีส่วนสำคัญต่อการทำงานของต่อมลูกหมาก เนื่องจากมีงานวิจัยบางชิ้นที่คาดว่าโรคนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีสังกะสีในเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงพบปริมาณสังกะสีในปัสสาวะที่ถูกขับออกมากกว่าปกติ

อีกหนึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานเมล็ดฟักทองในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตจำนวน 47 คน งานวิจัยนี้แบ่งกลุ่มให้ผู้ป่วยรับประทานแป้งมันเทศหวาน น้ำมันเมล็ดฟักทอง น้ำมันผลปาล์มแห้งชนิดหนึ่ง (Saw Palmetto) หรือน้ำมันเมล็ดฟักทองผสมกับน้ำมันผลปาล์มแห้ง ซึ่งผลปรากฏว่าการรับประทานน้ำมันเมล็ดฟักทองและน้ำมันจากผลปาล์มแห้งรวมกันในปริมาณ 320 มิลลิกรัม อาจมีประสิทธิภาพในฐานะทางเลือกหนึ่งของการรักษาอาการจากโรคต่อมลูกหมากโต

สำหรับประสิทธิภาพของการรักษาแต่ละกลุ่มนั้น พบว่าเมื่อผ่านไป 3 เดือน ทุกกลุ่มมีอาการของโรคต่อมลูกหมากโตลดลง ยกเว้นกลุ่มที่รับประทานแป้งมันเทศหวาน โดยกลุ่มที่รับประทานแต่เพียงน้ำมันเมล็ดฟักทองหรือน้ำมันผลปาล์มแห้งต่างมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหลังผ่านไป 3 เดือน ส่วนกลุ่มที่รับประทานน้ำมันเมล็ดฟักทองกับน้ำมันผลปาล์มแห้งผสมกัน จะต้องรอเวลาถึง 6 เดือนจึงจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลง ทว่ากลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มเดียวที่มีสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากลดลงหลังจาก 3 เดือน แต่ยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่า กลุ่มใดได้ผลการรักษาดีกว่ากัน

อีกงานวิจัยในปีต่อมามีการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน แต่เป็นการใช้เมล็ดฟักทองช่วยบรรเทาอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะที่เกิดขึ้นจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งเป็นการศึกษาในชายทั้งหมด 1,431 คน กลุ่มแรกให้รับประทานเมล็ดฟักทอง 5 กรัม วันละ 2 ครั้ง กลุ่มที่ 2 รับประทานแคปซูลสกัดจากเมล็ดฟักทอง 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเช่นกัน ส่วนกลุ่มสุดท้ายรับประทานยาหลอก ซึ่งหลังจากการศึกษานาน 12 เดือน พบว่าเฉพาะเมล็ดฟักทองมีส่วนช่วยลดความรุนแรงของอาการจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งหากทบทวนและวิเคราะห์งานวิจัยทั้งหลายในด้านนี้แล้วพบว่าน่าจะได้ผล เมล็ดฟักทองอาจกลายเป็นอีกทางเลือกในการช่วยยับยั้งอาการปัสสาวะผิดปกติที่เกี่ยวเนื่องกับต่อมลูกหมาก

ป้องกันโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ อีกคุณสมบัติของเมล็ดฟักทองที่คาดว่าอาจมีประโยชน์ งานวิจัยเมื่อนานมาแล้วในเด็กอายุ 2-7 ปี จำนวน 20 คน ถูกแบ่งกลุ่มให้รับประทานอาหารเสริมออกซาเลต 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมล็ดฟักทองหรืออาหารเสริมออโธฟอสเฟต 60 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และหลังจากการตรวจปัสสาวะเพื่อวิเคราะห์ค่าต่าง ๆ พบว่าในกลุ่มที่รับประทานเมล็ดฟักทองนั้นแสดงผลลัพธ์ที่ดี และจะยิ่งดีขึ้นแปรผันไปตามระยะเวลาที่รับประทาน

ผู้วิจัยคาดว่าเมล็ดฟักทองอาจมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ จากคุณสมบัติที่สามารถช่วยลดการเกิดผลึกแคลเซียมออกซาเลตซึ่งจะสะสมเป็นนิ่วต่อไป รวมถึงระดับแคลเซียม แต่จะส่งผลให้ฟอสฟอรัส ไพโรฟอสเฟต ไกลโคสะมิโนไกลแคน และโพแทสเซียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารเสริมออโธฟอสเฟต

เช่นเดียวกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่กล่าวสนับสนุนสรรพคุณด้านนี้ของเมล็ดฟักทอง ด้วยการทดสอบที่พบว่าอาหารเสริมผสมชนิดหนึ่งหรือของว่างอย่างเมล็ดฟักทองส่งผลให้ระดับของตัวยับยั้งการสะสมหรือก่อตัวของผนึกนิ่วเพิ่มขึ้นได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วเมล็ดฟักทองจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เมล็ดฟักทองอาจเป็นประโยชน์ในการช่วยลดความเสี่ยงโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง

โรคพยาธิตัวตืด โรคติดเชื้อจากพยาธิตัวตืดในคนบริเวณลำไส้เล็กส่วนบน ซึ่งการรักษานั้นสามารถใช้ยาถ่ายพยาธิอัลเบนดาโซล หรือพลาซิควอนเทล หรืออาจใช้ทั้ง 2 ชนิดควบคู่กัน ทว่ายาถ่ายพยาธิพลาซิควอนเทลนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพมาก แต่ก็มีผลข้างเคียงเสี่ยงให้เกิดโรคลมชักได้ การรักษาทางเลือกอย่างการใช้เมล็ดฟักทองจึงได้รับความสนใจมากกว่า

การศึกษากับผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิตัวตืดและผู้ที่น่าสงสัยว่าอาจมีพยาธิชนิดนี้ พบว่าการรับประทานเมล็ดฟักทองมีประสิทธิภาพช่วยกำจัดพยาธิได้ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องใช้เวลาเฉลี่ยนานถึงประมาณ 14 ชั่วโมง ส่วนอีกการรักษาหนึ่งที่ให้ผลดีก็คือการรับประทานสารสกัดจากหมาก โดยใช้เวลาในการกำจัดพยาธิเพียง 6 ชั่วโมง ผลลัพธ์คิดเป็น 63 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการรับประทานทั้ง 2 อย่างร่วมกันนั้นให้ผลดีถึง 88.9 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

จากผลลัพธ์ดังกล่าว การรับประทานเมล็ดฟักทองร่วมกับหมากจึงอาจเป็นตัวเลือกที่ได้ผลสูงและค่อนข้างปลอดภัย โดยมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น อาการวิงเวียนหรือคลื่นไส้ ทว่าก็คงต้องรอให้มีหลักฐานที่มาช่วยสนับสนุนประโยชน์ข้อนี้ได้อย่างน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

โรคระบบทางเดินปัสสาวะ เมล็ดฟักทองอาจให้ผลดีต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคผิดปกติเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ จึงทำให้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการช่วยบรรเทาอาการปัสสาวะลำบากที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากโรคต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน  ดังงานวิจัยหนึ่งที่เผยผลลัพธ์อันสนับสนุนประโยชน์ข้อนี้ โดยทดสอบกับผู้ป่วยจำนวน 45 คน ปรากฏว่าการรับประทานน้ำมันสกัดจากเมล็ดฟักทอง 10 กรัมต่อวัน ติดต่อกันนาน 12 สัปดาห์ ช่วยลดระดับความรุนแรงของอาการกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่าหากในอนาคตมีการศึกษาด้านเดียวกันนี้ออกมายืนยันประสิทธิภาพเพิ่มเติม ผู้ป่วยอาจใช้ประโยชน์ข้อนี้จากน้ำมันเมล็ดฟักทองได้อย่างมั่นใจ

ลดไตรกลีเซอไรด์ในผู้ป่วยโรคไต การรับประทานเมล็ดฟักทองมีผลดีต่อผู้ป่วยโรคไตจริงอย่างที่กล่าวกันหรือไม่นั้น มีการศึกษาในผู้ป่วยโรคไตวายที่รักษาด้วยการฟอกไตทางเส้นเลือด 30 คน โดยให้เพิ่มการบริโภคเมล็ดฟักทองบด (6 กรัม) เมล็ดงาบด (6 กรัม) และเมล็ดแฟลกซ์ (18 กรัม) เป็นส่วนหนึ่งในอาหารที่รับประทานเป็นประจำ ผลการศึกษาเป็นไปในทางที่ดี ผู้ป่วยมีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ต่ำลง เมล็ดฟักทองช่วยลดโปรตีนที่บ่งบอกถึงการอักเสบของร่างกาย ลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบเมื่อมีการติดเชื้อ ทั้งยังส่งผลดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือด และอาการคันที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคไต อย่างไรก็ตาม คุณประโยชน์ด้านนี้ก็ยังคลุมเครือและไม่ชัดเจน คงต้องรอการศึกษาวิจัยที่มีความน่าเชื่อถือมาช่วยยืนยันเสียก่อน

แก้ปัญหาผมร่วง การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ชิ้นหนึ่งกล่าวว่าน้ำมันจากเมล็ดฟักทองอาจเป็นประโยชน์ต่อชายที่มีปัญหาผมร่วง โดยการรับประทานน้ำมันเมล็ดฟักทองวันละ 400 มิลลิกรัม นาน 24 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับประทานยาหลอก พบการเปลี่ยนแปลงของจำนวนเส้นผมที่เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ทว่างานวิจัยดังกล่าวก็ยังไม่อาจระบุได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด และยังเป็นการศึกษาในชายเพียง 76 คน ซึ่งยังไม่มากเท่าไรนัก

รับประทานเมล็ดฟักทองอย่างไรให้ปลอดภัย

การรับประทานเมล็ดฟักทองในปริมาณปกติไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตราย แต่การรับประทานมาก ๆ โดยหวังว่าจะใช้ช่วยรักษาโรคใด ๆ นั้น มีข้อพึงระวังดังนี้

  • แม้เมล็ดฟักทองมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มการขับถ่ายและลดอาการท้องผูกในระยะยาว  แต่หากรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดแก๊สในกระเพาะและมีอาการท้องอืดหรือหากรับประทานเป็นปริมาณมากในคราวเดียวก็อาจมีอาการท้องผูก
  • เมล็ดฟักทองมีไขมันและแคลอรี่สูง การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
  • เพื่อความปลอดภัย หญิงที่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรไม่ควรรับประทานเมล็ดฟักทองในปริมาณมากผิดปกติ เพราะยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาตร์ที่สามารถรับรองความปลอดภัยได้อย่างแน่ชัด
  • ปริมาณการใช้เมล็ดฟักทองในงานวิจัยที่น่าเชื่อถือได้ในปัจจุบันยังคงระบุได้เพียงกรณีใช้เพื่อรักษาอาการของโรคต่อมลูกหมากโต โดยเป็นการใช้น้ำมันสกัดจากเมล็ดฟักทองวันละ 480 มิลลิกรัม แบ่งใช้วันละ 3 ครั้งผสมกับน้ำมันจากผลปาล์มแห้ง และสมุนไพรอื่น ๆ