เมารถ แก้อย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

อาการเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน อาจเป็นปัญหาหนักใจของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางเป็นประจำ โดยมักเกิดขึ้นเมื่อโดยสารยานพาหนะที่มีการเหวี่ยงตัวขณะเคลื่อนที่เป็นเวลานาน ส่งผลให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรืออาเจียน ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างระหว่างเดินทาง และอาจใช้ยาแก้เมารถตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร

motion sickness

อาการเมารถเป็นอย่างไร 

เมารถ เป็นอาการที่เกิดขึ้นเฉพาะบุคคล ดังนั้น ขณะโดยสารยานพาหนะใด ๆ ก็ตาม จึงมีทั้งคนที่มีอาการเมารถและคนที่ไม่มีอาการ ซึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังเมารถ ได้แก่

  • เวียนศีรษะ
  • รู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • มีเหงื่อออก
  • เด็กเล็กที่เมารถอาจหน้าซีด กระสับกระส่าย หาว หรือร้องไห้ร่วมด้วย

เมารถเกิดขึ้นได้อย่างไร 

อาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน เกิดขึ้นเมื่อประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวของหูชั้นในทำงานไม่ประสานกับภาพที่ดวงตามองเห็น สมองจึงได้รับสัญญาณที่ขัดแย้งกันจนมีอาการเมารถตามมา โดยอาจเกิดจากการโดยสารรถที่ขับเหวี่ยงไปมาหรือขับบนถนนที่คดเคี้ยวนานเกินไป การนั่งเรือที่โคลงเคลงตามลูกคลื่น การโดยสารเครื่องบิน หรือแม้แต่ระหว่างเล่นเครื่องเล่นผาดโผนต่าง ๆ ในสวนสนุกอย่างรถไฟเหาะก็อาจทำให้มีอาการได้เช่นกัน

ทั้งนี้ บุคคลในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดอาการเมารถได้มากกว่าคนทั่วไป

  • ผู้ที่มีประสาทรับรู้การเคลื่อนไหวเร็ว
  • ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงรับการบำบัดด้วยฮอร์โมน
  • ผู้ป่วยไมเกรน
  • เด็กอายุ 2-12 ปี
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหืด ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น
  • ผู้ที่มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด

บรรเทาอาการเมารถได้อย่างไร 

อาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน สามารถป้องกันและบรรเทาได้ด้วยตนเอง เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หากนั่งรถควรเลือกนั่งที่เบาะหน้า ส่วนการโดยสารเรือหรือเครื่องบินก็ควรเลือกนั่งตรงกลางลำ เพื่อลดแรงเหวี่ยงหรือการโคลงเคลงของยานพาหนะ
  • ขณะโดยสารรถให้มองตรงไปทางด้านหน้า โดยให้สายตาจดจ้องไปยังจุดที่หยุดอยู่กับที่ เช่น ตึกสูง เส้นขอบฟ้า เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการจ้องมองสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ อย่างรถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน หรือเรือลำอื่นที่แล่นไปมา
  • หลับตาและกำหนดลมหายใจเข้าออกลึก ๆ
  • หากอยู่ในพาหนะส่วนตัว อาจพูดคุยกับคนอื่น ๆ หรือร้องเพลงเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
  • แวะจอดรถตามจุดพักรถระหว่างทาง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ พักดื่มน้ำ หรือสูดอากาศภายนอก
  • หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดระหว่างเดินทาง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่และอาหารที่มีรสจัด รวมทั้งงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนโดยสารยานพาหนะใด ๆ

ยาแก้เมารถ

นอกจากการปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ผู้ที่เมารถเป็นประจำอาจรับประทานยาแก้เมารถ หรือแปะพลาสเตอร์ยาแก้เมารถ ดังต่อไปนี้

  • ยาต้านฮิสตามีน เป็นยาที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันหรือบรรเทาอาการเมารถที่นิยมใช้ในปัจจุบัน เช่น ยาไซไคลซีน ยาไดเมนไฮดริเนต เป็นต้น แต่ยาเหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงทำให้รู้สึกง่วงนอนได้
  • ยาสโคโปลามีน มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการเมารถ โดยตัวยาจะอยู่ในรูปของพลาสเตอร์สำหรับแปะลงบนผิวหนัง ใช้แปะไว้ด้านหลังใบหูตั้งแต่ก่อนเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนให้เด็กรับประทานยาต้านฮิสตามีนหรือใช้พลาสเตอร์ยาสโคโปลามีน เพราะเด็กอาจเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยามากกว่าคนในช่วงวัยอื่น