เมื่อลูกพูดโกหก เข้าใจสาเหตุและวิธีรับมือในแต่ละช่วงวัย

การโกหกเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุประมาณ 5–8 ปี แต่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากปล่อยให้เด็กโกหกบ่อย ๆ เป็นเวลานาน อาจเกิดปัญหาในระยะยาวต่อตัวเด็กและคนรอบข้าง และอาจแสดงถึงความผิดปกติของสภาพจิตใจของเด็กที่ควรได้รับการรักษา

การโกหกเป็นพฤติกรรมที่คนเราใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกว่ากล่าวหรือลงโทษ หรือเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตนเองไว้ ทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็มีเหตุผลในการโกหกที่คล้ายกัน แต่การโกหกของเด็กมักเป็นการทดลองเล่นกับความจริงว่าพ่อแม่หรือคนรอบตัวจะรู้หรือไม่ ซึ่งระดับความรุนแรงของการพูดโกหกจะแตกต่างกันไปตามวัยและความสามารถในการคิดพิจารณา ในบทความนี้จะบอกเล่าพฤติกรรมการโกหกของเด็กและวิธีรับมือให้ได้ผล

เมื่อลูกพูดโกหก เข้าใจสาเหตุและวิธีรับมือในแต่ละช่วงวัย

การโกหกและพัฒนาการของเด็ก

การโกหกของเด็กไม่ใช่พฤติกรรมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เกิดจากการเรียนรู้และซึมซับจากการเลี้ยงดูของครอบครัวหรือการเรียนรู้ในโรงเรียนจากกลุ่มเพื่อน ทั้งนี้ เด็กแต่ละคนเริ่มมีนิสัยโกหกที่แตกต่างกัน และพบว่าการโกหกสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็ก เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีสาเหตุของการโกหกและวิธีรับมือที่ต่างกัน โดยแบ่งออกได้ตามช่วงวัย ดังนี้

เด็กวัยอายุ 2–4 ปี 

เด็กวัยหัดเดินและก่อนเข้าเรียนเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มมีพัฒนาการด้านภาษา เริ่มรู้จักสื่อสารอย่างง่าย ๆ ถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นวัยที่ชอบเล่นบทบาทสมมติ แต่ยังไม่อาจแยกระหว่างโลกในจินตนาการกับเรื่องจริงได้ นอกจากนี้เด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มแสดงความเป็นตัวเองเพื่อต่อต้านในสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง

เด็กในวัยนี้ยังไม่มีทักษะที่ทำให้เข้าใจว่าการโกหกเป็นอย่างไร และยังเด็กเกินกว่าที่จะถูกลงโทษเมื่อพูดโกหก ดังนั้น พ่อแม่ควรพูดกับลูกอย่างระมัดระวัง ใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง และหลีกเลี่ยงการดุด่าหรือใช้คำที่แสดงถึงการทำร้ายจิตใจ เช่น การเรียกว่าเป็นเด็กขี้โกหก เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกผิดและเกิดปมในใจขึ้นได้

เด็กวัย 5–10 ปี

พัฒนาการของเด็กวัยเรียนจะเริ่มเข้าใจเรื่องการโกหกมากขึ้น และเป็นวัยที่มักพูดโกหกบ่อยขึ้นเพื่อทดสอบว่าสิ่งที่ทำจะถูกจับได้หรือถูกลงโทษหรือไม่ โดยเฉพาะการโกหกเรื่องที่โรงเรียน อย่างเรื่องเพื่อนหรือเรื่องการบ้าน โดยส่วนมาก เด็กในวัยนี้ไม่ได้ต้องการพูดโกหกหรือปิดบังความจริง เพียงแต่ยังขาดทักษะในการรับมือกับเหตุการณ์และต้องการได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ จึงพยายามเลือกวิธีที่ตัวเองจะถูกต่อต้านน้อยที่สุด

ไม่ว่าเด็กจะขาดความสามารถในการแก้ปัญหาหรือต้องการเลี่ยงสถานการณ์ที่กดดัน ผู้ปกครองควรใส่ใจในการสอนให้ลูกรู้จักวิธีการรับมือและหาทางออกที่เหมาะสมเมื่อเจอเหตุการณ์ที่ไม่สบายใจ และควรปลูกฝังให้เด็กคิดถึงผลที่จะตามมาจากการกระทำของตัวเอง นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กและระมัดระวังในการพูดโกหกกับเด็ก เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะช่างสังเกตและอาจเลียนแบบการกระทำของผู้ใหญ่ได้

เด็กวัย 11–13 ปี

เด็กวัยนี้ใกล้จะเป็นวัยรุ่น ซึ่งมักพูดโกหกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เพื่อให้สถานะทางสังคมของตัวเองสูงขึ้น หรือเพื่อเพิ่มคุณค่าในตัวเอง เด็กที่โกหกจนเป็นนิสัยมักเกิดจากการพยายามต่อต้านกฎหรือข้อบังคับที่ตัวเด็กไม่ต้องการ เด็กในวัยนี้อาจคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องเล่าทุกเรื่องให้ผู้ปกครองทราบ และจะพูดโกหกเมื่อรู้สึกว่าถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

ผู้ปกครองควรแสดงความเป็นห่วงและความเข้าใจ โดยสอบถามและรับฟังเหตุผลของการโกหกของเด็ก  ทั้งนี้ เด็กในวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นจะรู้จักการพูดโกหกเพื่อความสบายใจของผู้อื่น (White Lie) ซึ่งผู้ปกครองควรย้ำเตือนให้เด็กเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการพูดความจริง เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเมื่อไรที่การพูดโกหกจะติดเป็นนิสัย และอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

เมื่อการโกหกกลายเป็นปัญหา

การโกหกบางครั้งคราวอาจเป็นพฤติกรรมปกติของเด็กวัยเรียน แต่หากเด็กเริ่มโกหกบ่อยครั้งจนเป็นนิสัย และมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอื่น ๆ เช่น ทำลายข้าวของ ทำร้ายคนหรือสัตว์ มีปัญหาด้านการนอนหลับ ไม่มีเพื่อน หรือเริ่มโกหกโดยไม่รู้สึกผิด พฤติกรรมเหล่านี้อาจกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการเข้าสังคมของเด็กได้

นอกจากนี้ การโกหกอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเด็กมีอาการของโรคทางจิตเวช โดยพบในเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งจะขาดความสามารถในการไตร่ตรองหรือยั้งคิด และมีแนวโน้มที่จะพูดโกหกหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผู้ปกครองจึงควรสังเกตพฤติกรรมของเด็กอยู่เสมอ และหากพบว่ามีพฤติกรรมผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

การโกหกของเด็กเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียนรู้จากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ปกครองที่มักพูดโกหกกับเด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงไม่ควรพูดโกหกหรือปิดบังในสิ่งที่เด็กควรรู้ ควรให้ความใส่ใจกับเด็กและสอนให้เด็กเข้าใจว่าการโกหกจนเป็นนิสัยจะสร้างปัญหาต่อตัวเองและผู้อื่น นอกจากนี้ควรสร้างบรรยากาศในบ้านให้เด็กไม่รู้สึกกดดันที่จะพูดความจริง เช่น หลีกเลี่ยงการลงโทษรุนแรง และชื่นชมเมื่อเด็กกล้าพูดความจริง