แผลเบาหวานที่เท้าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวานเรื้อรัง มักพบในบริเวณลงรับน้ำหนัก เช่น ฝ่าเท้าส่วนหน้า ส้นเท้า และนิ้วโป้งเท้า โดยผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกชาหรือรู้สึกเสียวแปลบเหมือนเข็มทิ่ม แต่บางรายอาจไม่รู้สึกตัวเลยว่าเกิดแผล จนพบว่าเท้าบวมแดง มีกลิ่น มีหนองไหลที่เท้า และผิวบริเวณเท้าเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
หากแผลลุกลามโดยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจร้ายแรงจนถึงขั้นตัดเท้า ผู้ป่วยเบาหวานจึงควรสังเกตอาการและดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดแผลและการติดเชื้อที่เท้าก่อนที่อาการจะรุนแรงจนสายเกินไป
สาเหตุของแผลเบาหวานที่เท้า
แผลเบาหวานที่เท้าเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ประสาทส่วนปลายที่รับความรู้สึกเสื่อมจากการที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวานมานาน และอาจไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ซึ่งทำให้เกิดอาการชา ไม่สามารถรับรู้ความรู้สึกได้ ผู้ป่วยจึงอาจเกิดบาดแผลที่เท้าจากสาเหตุต่าง ๆ และแผลลุกลามโดยไม่รู้ตัว
นอกจากนี้ แผลเบาหวานที่เท้ายังเกิดจากความเสื่อมของประสาทอัตโนมัติที่ควบคุมการหดและขยายตัวของหลอดเลือดและการหลั่งเหงื่อ จึงทำให้ผิวบริเวณเท้าแห้งแตกเป็นแผลได้ง่าย และอาจทำให้เชื้อโรคเข้าไปในรอยแตกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ส่วนหนึ่งเกิดจากความเสื่อมของเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อที่เท้า ทำให้กล้ามเนื้อเท้าลีบและเท้าผิดรูป รวมทั้งทำให้บริเวณลงน้ำหนักของเท้าผิดปกติ และเกิดแผลตามมา
อีกสาเหตุหนึ่งของแผลเบาหวานคือ หลอดเลือดบริเวณเท้าตีบหรืออุดตัน เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ ทำให้เกิดแผลที่เท้าได้จากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง และหากเกิดแผลจากสาเหตุใด ๆ แผลก็จะหายช้า เนื่องจากขาดเลือดซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการสมานแผล
ป้องกันการเกิดแผลเบาหวานที่เท้าด้วยการดูแลตัวเอง
การดูแลเท้าเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเบาหวานที่เท้าได้ ดังนี้
หมั่นสำรวจอาการผิดปกติที่เท้า
ผู้ป่วยเบาหวานควรสังเกตอาการผิดปกติที่เท้า เช่น การบวมแดง รอยแผลแตก หนังเท้าด้าน ตาปลา เล็บขบ และหูดที่เท้า หากพบความผิดปกติเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก โดยไม่ควรซื้อยามารักษาเอง หรือตัดหนังเท้าที่ด้านและตาปลาออกเอง เพราะอาจทำให้แผลอักเสบหรือติดเชื้อได้
รักษาความสะอาดของเท้าเป็นประจำ
ผู้ป่วยควรล้างเท้าด้วยน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่นและสบู่ที่อ่อนโยน หากใช้น้ำอุ่นควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า อุณหภูมิของน้ำไม่ร้อนจนเกินไป และไม่ควรแช่เท้าลงในน้ำเพราะอาจทำให้ผิวแห้ง หลังล้างเท้าแล้วให้ซับน้ำให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าที่เป็นจุดอับชื้นและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
บำรุงผิวให้มีความชุ่มชื้นและสุขภาพดี
หลังล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ควรทาครีมทาเท้าที่มีส่วนผสมของสารที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิว เสริมสร้างกระบวนการสร้างผิวหนังตามธรรมชาติ และป้องกันไม่ให้เท้าแห้ง ด้าน หรือแตก ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลตามมา โดยสามารถทาครีมให้ทั่วทั้งบริเวณฝ่าเท้าและหลังเท้าวันละ 2–3 ครั้ง โดยเว้นบริเวณซอกนิ้วเท้าไว้ ซึ่งเป็นบริเวณที่เมื่อเกิดความเปียกชื้นจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากนี้ การเสริมวิตามินดีให้เพียงพออาจช่วยให้สุขภาพผิวดีขึ้น เนื่องจากวิตามินดีมีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์ผิว และกระตุ้นกระบวนการฟื้นฟูเกราะป้องกันผิวชั้นนอก ซึ่งอาจช่วยในการสมานแผลและช่วยให้ผิวแข็งแรง ซึ่งวิตามินดีได้จากแสงแดด การรับประทานอาหาร และทางเลือกอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารเสริมและการทาครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของวิตามินดี เป็นต้น
ตัดเล็บเท้าอย่างสม่ำเสมอ
ไม่ปล่อยให้เล็บยาวหรือตัดสั้นจนเกินไป โดยตัดเล็บเท้าให้ตรงและเหลือมุมเล็บไว้เพื่อป้องกันการเกิดเล็บขบซึ่งอาจทำให้เกิดแผลที่เท้า หลังจากตัดเล็บแล้วให้ตะไบขอบเล็บให้เรียบ
ไม่ควรเดินเท้าเปล่าและไม่สวมรองเท้าหัวเปิด
ผู้ที่เป็นเบาหวานควรสวมรองเท้าเสมอไม่ว่าจะอยู่ในบ้านหรือนอกบ้าน เพราะการเดินเท้าเปล่าอาจเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บและเกิดแผลที่เท้าได้ หากอยู่ในบ้านควรสวมรองเท้าสลิปเปอร์ (Slippers) ที่มีหัวปิด และสวมถุงเท้าที่ยืดหยุ่นได้ดีและให้ความอบอุ่นเมื่ออยู่ในห้องนอนหรือเมื่ออากาศหนาว
เมื่อออกนอกบ้านควรเลือกสวมรองเท้าที่พอดีกับเท้าและสวมใส่สบาย ก่อนสวมรองเท้าควรตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมในรองเท้า เพื่อป้องกันการเกิดบาดแผล และหากเท้าผิดรูปอาจต้องตัดรองเท้าให้รับกับรูปเท้า
ปรับท่านั่งและบริหารเท้าระหว่างวัน
หากนั่งเก้าอี้ พยายามไม่นั่งไขว้ขา อาจใช้เก้าอี้รองเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น และหมั่นขยับเท้า ข้อเท้า และนิ้วเท้าโดยเฉพาะเมื่อนั่งเป็นเวลานาน ซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
การดูแลเท้าเป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดแผลเบาหวานที่เท้าได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้ยารักษาเบาหวานตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งไปตรวจสุขภาพตามนัด และงดสูบบุหรี่ หากพบแผลที่เท้าและมีอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
เขียนโดย กองบรรณาธิการ POBPAD
อัพเดทล่าสุด 21 กรกฎาคม 2565
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ.นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์
เอกสารอ้างอิง
- Oliver T.I. & Mutluoglu M. NCBI Bookshelf (2022). Diabetic Foot Ulcer.
- Mostafa, W.Z., & Hegazy, R.A. (2015). Vitamin D and the skin: Focus on a complex relationship: A review. Journal of advanced research, 6(6), 793–804.
- Centers for Disease Control and Prevention (2021). Diabetes and Your Feet.
- National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases (2017). Diabetes and Foot Problems.
- Cleveland Clinic (2021). Diabetes-Related Foot Conditions.
- Cleveland Clinic (2019). Vitamin D Deficiency.
- Mayo Clinic (2021). Peripheral neuropathy.
- สุภาพร โอภาสานนท์. มหาวิทยาลัยมหิดล (2011). สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. แผลเบาหวาน (Diabetic Foot) และการดูแลเท้า.
- WebMD (2021). Diabetic Foot Problems.