เลซิติน 7 ประโยชน์ และข้อควรรู้ในการรับประทาน

เลซิติน (Lecithin) คือสารที่ประกอบด้วยไขมันหลายชนิดที่มีส่วนสำคัญต่อเซลล์ในร่างกาย พบได้ในอาหาร เช่น เนื้อปลา ไข่แดง นม และถั่วเหลือง เลซิตินมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น ลดคอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงหัวใจ สมอง และป้องกันการอักเสบในร่างกาย

นอกจากพบในอาหารทั่วไป เลซิตินถูกนำมาใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหาร ซึ่งเป็นสารที่ช่วยเพิ่มความคงตัวและเพิ่มความชุ่มชื้นในกระบวนการผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว อาหารเสริม และยา ซึ่งโดยทั่วไปนิยมสกัดจากถั่วเหลือง ไข่ และดอกทานตะวัน

เลซิติน

7 ประโยชน์น่ารู้ของเลซิติน

เลซิตินประกอบด้วยฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ซึ่งเป็นกลุ่มของไขมันหลายชนิดที่พบได้ที่เยื่อหุ้มเซลล์ของร่างกายมนุษย์และสัตว์ ทำหน้าที่เลือกสารที่จะผ่านเข้าไปในเซลล์ และปรับสมดุลเพื่อไม่ให้เกิดการอักเสบในร่างกาย โดยมีประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ เช่น

1. ลดคอเลสเตอรอล

งานวิจัยในคนและสัตว์บางส่วนพบว่าเลซิตินมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ช่วยสลายคอเลสเตอรอลและไขมันที่อยู่ในหลอดเลือด จึงช่วยป้องกันไขมันเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ 

โดยผลการศึกษาพบว่าการรับประทานอาหารเสริมเลซิตินอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ โดยไม่ทำให้คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดลงตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยในปัจจุบันยังไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าเลซิตินมีประสิทธิภาพในการลดคอเลสเตอรอล ผู้ที่ต้องการรับประทานอาหารเสริมเลซิตินเพื่อลดคอเลสเตอรอล จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย

2. ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ

เนื่องจากเลซิตินอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล จึงอาจช่วยป้องกันการเกาะตัวของคอเลสเตอรอลบนผนังหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกและเกิดโรคหัวใจตามมา การรับประทานเลซิตินจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้

นอกจากนี้ ผลการวิจัยพบว่าผู้ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองที่มีสารเลซิตินอาจช่วยในการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดให้ดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ

3. ควบคุมความดันโลหิต

การรับประทานอาหารเสริมเลซิตินอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารเสริมเลซิตินจากถั่วเหลืองวันละ 1,200 มิลลิกรัมเป็นเวลา 8 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน พบว่าระดับความดันโลหิตตัวล่าง (DBP) ลดลง ซึ่งเป็นความดันเลือดที่ต่ำสุดขณะหัวใจคลายตัว หากความดันโลหิตสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคหัวใจ 

นอกจากนี้ เลซิตินยังช่วยลดค่าความแข็งของหลอดเลือดแดง ซึ่งหากมีค่านี้สูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

4. ป้องกันภาวะเต้านมอักเสบ (Mastitis)

ภาวะเต้านมอักเสบกิดจากการอุดตันของท่อน้ำนม ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณเต้านมบวมแดง อักเสบ และเจ็บเต้านม พบบ่อยในผู้หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร โดยผลการวิจัยพบว่าการรับประทานเลซิตินอาจช่วยรักษาหรือป้องกันภาวะท่อน้ำนมอุดตันได้ โดยแนะนำให้รับประทานเลซิตินวันละ 1,600 มิลลิกรัม

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทานเลซิตินและอาหารเสริมอื่น ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของแม่และทารก

5. บำรุงสมอง

เลซิตินประกอบด้วยโคลีน (Choline) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยเสริมการเรียนรู้และความจำ และอาจช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ และภาวะสมองเสื่อมจากโรคพาร์กินสัน

นอกจากนี้ เลซิตินประกอบด้วยฟอสฟาติดิลซีรีน (Phosphatidylserine) และกรดฟอสฟาติดิก (Phosphatidic Acid) ซึ่งช่วยในเพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ การเรียนรู้ สมาธิ และบรรเทาความเครียด ผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่ได้รับประทานอาหารเสริมเลซิตินมีความสามารถในการคิดตัดสินใจในชีวิตประจำวันและสภาวะอารมณ์ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางชิ้นพบว่าเลซิตินอาจไม่ได้ช่วยป้องกันหรือชะลออาการของโรคสมองเสื่อม จึงอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ด้านความจำจากการรับประทานเลซิตินต่อไป 

6. ช่วยในการทำงานของระบบทางเดินอาหาร

ฟอสฟาทิดิลโคลีน (Phosphatidylcholine) เป็นสารสำคัญที่พบในเลซิตินมากกว่า 70% ของกลุ่มไขมันทั้งหมดที่พบในเลซิติน ทำหน้าที่เป็นเมือกป้องกันเยื่อบุลำไส้จากแบคทีเรียที่ไม่ดี และลดการอักเสบในลำไส้ การรับประทานเลซิตินจึงอาจช่วยกระตุ้นการผลิตเมือกในลำไส้ ซึ่งอาจช่วยในการย่อยอาหารและช่วยปกป้องเยื่อบุระบบทางเดินอาหาร

ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบ(Ulcerative Colitis) มักมีเมือกที่เยื่อบุลำไส้ลดลง เนื่องจากอักเสบที่เยื่อบุผิวลำไส้ ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย และถ่ายเป็นเลือด การรับประทานอาหารเสริมเลซิตินอาจช่วยเสริมชั้นเมือกในระบบทางเดินอาหาร และลดการอักเสบของลำไส้ได้ นอกจากนี้ เลซิตินอาจนำมาใช้รักษาผู้ที่มีอาการลำไส้แปรปรวน (IBS) ด้วย

7. มีประโยชน์ต่อผิว

ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องสำอางหลายชนิดมีส่วนประกอบของเลซิติน ซึ่งทำหน้าที่เป็นสารให้ความชุ่มชื้นและป้องกันการแห้งแตกเมื่อทาผลิตภัณฑ์ลงบนผิว โดยผลการวิจัยพบว่าสามารถใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีส่วนผสมของเลซิตินได้อย่างปลอดภัยเมื่อมีความเข้มข้นของเลซิตินไม่เกิน 15% 

นอกจากนี้ มีการศึกษาบางส่วนที่ศึกษาประโยชน์ของเลซิตินในด้านอื่น ๆ เช่น ป้องกันการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) ป้องกันโรคตับ และบรรเทาอาการของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน แต่ในปัจจุบันยังมีการศึกษาจำนวนไม่มาก และผลการศึกษาไม่เป็นไปในทางเดียวกัน จึงอาจต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถยืนยันถึงประโยชน์ของเลซิตินต่อการรักษาโรคเหล่านี้ต่อไป

การรับประทานเลซิตินอย่างปลอดภัย

เลซิตินพบในอาหารทั่วไป โดยพบมากที่สุดในไข่แดง ซึ่งประกอบด้วยเลซิตินสูงถึง 250 มิลลิกรัม และพบในอาหารอื่น ๆ เช่น ปลา ถั่วลิสง ถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันคาโนล่า และเมล็ดทานตะวัน นอกจากนี้ เลซิตินยังถูกนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมในรูปแคปซูล ผง และน้ำอีกด้วย 

โดยทั่วไป การรับประทานอาหารและอาหารเสริมที่มีเลซิตินมักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจทำให้บางคนเกิดอาการแน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องเสีย และปวดศีรษะ แม้ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดปริมาณเลซิตินสูงสุดที่ควรได้รับต่อวัน แต่ไม่ควรรับประทานเลซิตินในปริมาณมากเกินไป โดยเฉพาะเลซิตินในรูปอาหารเสริม โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

  ทั้งนี้ คนที่มีปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงรับประทานเลซิติน 

  • คนที่มีอาการแพ้เลซิติน หรือส่วนประกอบอื่น ๆ ในอาหารเสริมเลซิติน ไม่ควรรับประทานเลซิน เพราะอาจทำให้เกิดผื่นขึ้น หายใจลำบาก ใบหน้า ลิ้น และลำคอบวม
  • เด็กไม่ควรรับประทานเลซิติน เพราะยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของเด็กในการรับประทานเลซิตินอย่างเพียงพอ
  • หญิงตั้งครรภ์ และคนที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเลซิติน
  • ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเลซิติน เนื่องจากเลซิตินประกอบด้วยฟอสฟอรัส ซึ่งอาจทำให้อาการของโรคไตแย่ลงได้
  • ผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) รักษาลิ่มเลือดอุดตัน ยาลดความดันโลหิต ยาลดคอเลสเตอรอล และยาขับปัสสาวะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานเลซิติน เพราะอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาที่ใช้อยู่

เลซิตินเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น บำรุงสมอง ลดคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจ และช่วยป้องกันภาวะท่อน้ำนมอุดตันในผู้ที่ให้นมบุตร แต่ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารใด การได้รับสารอาหารนั้นจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม จะทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และหากต้องการรับประทานอาหารเสริมเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ