เลฟลูโนไมด์ (Leflunomide)
Leflunomide (เลฟลูโนไมด์) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน (Psoriatic Arthritis) โดยตัวยาจะช่วยลดอาการบวม อาการอักเสบ อาการปวดตามข้อ และชะลอความรุนแรงของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ อาจใช้รักษาโรคอื่นตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Leflunomide
กลุ่มยา | ยากลุ่ม Disease Modifying Anti-Rheumatic Drugs (DMARDs) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category X ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์หรือในสตรีที่อาจตั้งครรภ์ เพราะจากการศึกษาในมนุษย์และสัตว์แสดงให้เห็นว่า ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์มนุษย์และตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ หรือพบหลักฐานยืนยันว่า เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อทารกในครรภ์ การใช้ยามีความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติสูงกว่าประโยชน์ที่อาจได้รับอย่างชัดเจน สำหรับผู้ให้นมบุตร ห้ามให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยา เนื่องจากตัวยาอาจปะปนไปกับน้ำนม |
คำเตือนในการใช้ยา Leflunomide
ข้อควรทราบเพื่อความปลอดภัยก่อนการใช้ยา Leflunomide มีดังนี้
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากมีอาการแพ้ยา Leflunomide และยาชนิดอื่น หรือมีอาการแพ้สารอื่น ๆ ในตัวยา โดยผู้ป่วยสามารถสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรถึงส่วนประกอบของยา Leflunomide ก่อนการใช้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เช่น ยาแก้ปวด ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาออราโนฟิน (Auranofin) ยาลดคอเลสเตอรอล ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคมะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยภาวะความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคตับ โรคไต วัณโรค โรคเลือด โรคปอด โรคหัวใจ โรคเบาหวาน มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน เคยติดเชื้ออย่างรุนแรง และเกิดการติดเชื้อบ่อยครั้ง
- ยา Leflunomide อาจลดประสิทธิภาพการต้านการติดเชื้อของร่างกาย ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการติดเชื้อ เช่น มีอาการคล้ายหวัด ไอ เจ็บคอ มีไข้ ผิวแดง บวมหรืออุ่น รู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ ปัสสาวะลำบากหรือบ่อยผิดปกติ เป็นต้น
- ควรวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างการใช้ยา Leflunomide เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
- เนื่องจากยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายา Leflunomide จะส่งผลต่ออสุจิหรือไม่ ผู้ป่วยชายที่อยู่ในระหว่างใช้ยานี้และต้องการมีบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
- ควรคุมกำเนิดในระหว่างที่ใช้ยาและหลังการใช้ยาจนกว่าผลตรวจเลือดจะไม่มียา Leflunomide ตกค้างอยู่ โดยอาจปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมต่อตนเองมากที่สุด ผู้ป่วยหญิงหากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- ห้ามให้นมบุตรในระหว่างการใช้ยา Leflunomide เนื่องจากตัวยาอาจปะปนไปกับน้ำนม
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในระหว่างใช้ยานี้
- การใช้ยา Leflunomide อาจทำให้รู้สึกเวียนศีรษะและง่วงซึม ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวและการใช้เครื่องจักร รวมทั้งควรจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างใช้ยานี้
- ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนในระหว่างที่ใช้ยาโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน และควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่เพิ่งรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนโปลิโอ เพราะการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง
ปริมาณการใช้ยา Leflunomide
ตัวอย่างการใช้ยา Leflunomide เพื่อรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงินในผู้ใหญ่ ให้เริ่มรับประทานยาปริมาณ 100 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 3 วัน จากนั้นให้ยาในปริมาณคงที่วันละ 10–20 มิลลิกรัม/วัน
การใช้ยา Leflunomide
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา Leflunomide ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือคำแนะนำบนฉลากยาอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยไม่ควรปรับปริมาณยาเองหรือหยุดใช้ยาเองแม้อาการจะดีขึ้นแล้ว หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ
- รับประทานยา Leflunomide พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ โดยให้รับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา
- เมื่อสิ้นสุดการรักษา แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาชนิดอื่น ๆ เพื่อขับยา Leflunomide ที่ตกค้างอยู่ออกจากร่างกายในผู้ป่วยบางคน
- ควรนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดหากรับประทานยาเกินขนาด โดยมักจะพบอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย ผิวหรือตาเหลือง เลือดออกง่ายหรือผิวช้ำง่าย ผิวซีด และปัสสาวะเป็นสีเข้ม
- หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ช่วงเวลาของการรับประทานในครั้งต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยาครั้งต่อไปตามช่วงเวลาเดิม ห้ามเพิ่มปริมาณการรับประทานยาเป็น 2 เท่าเพื่อทดแทน หากลืมรับประทานยาบ่อย ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ
- เก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์อย่างมิดชิดและเก็บไว้ในอุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากมือเด็ก ความชื้น ความร้อนและอากาศเย็นจัด หากยาหมดอายุ ควรนำไปกำจัดอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Leflunomide
ยา Leflunomide อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั่วไป เช่น เวียนศีรษะ อ่อนแรง เกิดผื่นคันเล็กน้อย คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดหลัง ปวดศีรษะ ผมร่วงหรือผมบาง และความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น หากอาการแย่ลงหรือมีอาการติดต่อกันเป็นเวลานาน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วหากมีอาการต่อไปนี้
- มีอาการแพ้ยา เช่น เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจหรือกลืนลำบาก บวมในบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้าและคอ มีไข้ เป็นต้น
- เกิดอาการภูมิแพ้ผิวหนังอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยจะแสบตา เกิดผื่นเป็นจุดขนาดเล็กสีแดงและอาจเป็นสีแดงคล้ำกระจายไปทั่วร่างกาย ผิวลอกหรือเกิดแผล มีไข้หรือเจ็บคอ
- ชาหรือแสบบริเวณมือหรือเท้า
- หายใจเป็นเสียงหวีดหรือหายใจไม่อิ่ม
- ไอแห้ง
- เจ็บหรือแน่นหน้าอกกะทันหัน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
- เกิดจุดสีแดงหรือม่วงตามผิวหนัง ผิวช้ำง่าย และเลือดไหลมากกว่าผิดปกติ
- มีอาการติดเชื้อ เช่น รู้สึกไม่สบาย เกิดแผลในปาก เหงือกบวมแดง กลืนลำบาก หนาวสั่น มีไข้ เจ็บคอหรืออ่อนแรงกะทันหัน
- ตับทำงานผิดปกติ ส่งผลให้มีอาการปวดท้องช่วงบน ผิวหรือตาเหลือง คัน เบื่ออาหาร เหนื่อย ปัสสาวะเป็นสีเข้มหรืออุจจาระมีสีคล้ายดิน